เศรษฐกิจไทย วิกฤต-ไม่วิกฤต? (1)
เศรษฐกิจไทย วิกฤต-ไม่วิกฤต?
โดย ดร.พิสิทธ์ ลี้อาธรรม
ระยะนี้มีการพยายามชี้นำว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยการกู้เงินเพื่อแจกให้ประชาชนได้ใช้จ่ายเพื่อบริโภคคนละ 10,000บาท ยกเว้นคนอายุต่ำกว่า 16 ขวบ
ผมขอตั้งคำถาม 4 ข้อ คือ เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ หากไม่วิกฤตจะต้องมีนโยบายอะไร รัฐบาลมีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมหรือไม่ และผลกระทบมีอย่างไร
คำถามแรก เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จะหมายถึงสภาพที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างฉับพลัน หรือวัดได้ว่า GDP ติดลบติดต่อกัน
ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอยู่ภาวะวิกฤต 3 ครั้งคือ
วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540-41 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 7.6% GDP ลดลง $30พันล้าน รัฐบาลกู้เงินมิยาซาวา
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-52 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 0.7% GDP ลดลง $10พันล้าน รัฐบาลกู้เงินไทยเข้มแข็ง
วิกฤตโควิด 2562-63 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 6.2% GDP ลดลง $45พันล้าน รัฐบาลกู้เงินด้วยพรกโควิด
ขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศไม่อยู่ในภาวะวิกฤต อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในเกณฑ์ปกติ หน่วยงานที่ศึกษาภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญของประเทศ คือ สศช(สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท(ธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้โต้แย้งรัฐบาลว่า แม้GDPอาจชะลอลง แต่การบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัวค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวของC(Consumption)อยู่ระดับ 6-7% ต่อเดือน ตัวที่ฉุดเศรษฐกิจกลับเป็น การลงทุนภาครัฐ (เพราะงบประมาณ67 ล่าช้า7เดือน การส่งออกเพราะเศรษฐกิจภายนอก และการลงทุนเอกชนเพราะขาดความเชื่อมั่น ทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติปีนี้จะขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.7%(ตามการประเมินของ IMF) หรือ 3.2% ตามการประเมินของสศช และกระทรวงการคลัง หรือ 4.4% ตามการประเมินของธปท เหตุผลที่ธปท ยังสูงกว่าหน่วยงานอื่นเป็นเพราะมีการประเมินการใช้จ่ายภาครัฐไว้ในอัตราสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ recession และประมาณการในปี2567 ก็ล้วนแต่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่สูงกว่าปีนี้
ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่ถึงร้อยละ 1 ดังนั้นหากอิงตามตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคไม่ปรากฎว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ติดลบหรือถดถอยแต่ประการใด
คำถามต่อไป เศรษฐกิจไทยสมควรต้องดูแลอย่างไร เมื่อโตไม่ถึง 2% ต่อปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ผมเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าเกินไป และจำเป็นต้องแก้ไข การที่เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งในด้านโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และเฉพาะหน้าที่น่าจะทำได้ทันที ทั้งที่ใช้เงินแผ่นดินและที่ไม่ต้องใช้เงินแผ่นดิน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเลื่อนลอย
อันดับ แรก ปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไขโดยด่วนคือ ประชากรไทยกำลังลดลง เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลงเหลือต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปีเทียบกับที่เคยเกิดใหม่ 1.2 ล้านคนต่อปีเมื่อ 40ปีที่แล้ว ผลที่ตามมาคือมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ลดลง เกิดปัญหาการขาดแคลนจำนวนแรงงาน ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกืจไทยมีการว่างงานที่ต่ำ และมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้นทุกที ปัญหานี้ย่อมกระทบต่อแรงดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับที่ใช้ทักษะมาก(skilled) หรือทักษะปานกลาง(Semi skilled) ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากแรงงานไทยจะลดลง นโยบายการส่งแรงงานไปต่างประเทศก็ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานของธุรกิจภายในประเทศ
อีกด้านหนึ่งของปัญหาประชากร คือ คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะ ที่แก่แต่ยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอ เกิดปัญหาคนจนระหว่างผู้สูงอายุ ที่ขาดรายได้ประจำ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีเงินออมหรือบำนาญใช้ในยามชรา แต่ส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนทำงาน ไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆมาดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามมากขึ้น ได้แต่ทำการสงเคราะห์อย่างผิวเผิน
รัฐบาลยังไม่มีนโยบายดูแลปัญหาประชากรอย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคม
อันดับ2 ปัญหาน้ำมันขายปลีกมีราคาแพง คนไทยยังต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรัฐบาลไปอ้างอิงกับราคาน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่กำลังการผลิตของไทยที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ หากมีการขยายโรงกลั่นอี 2.4 แสนบาร์เรลต่อวันตามประกาศ กำลังการผลิตของไทยจะมากกว่าสิงคโปร์ ประเทศไทยกลายเป็นผู้กลั่นน้ำมันดิบและส่งออกน้ำมันเบนซินและดีเซลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลก็ยังประกาศราคาหน้าโรงกลั่น โดยอิงกับราคาที่สิงคโปร์(ซึ่งบวกกำไรและค่าใช้จ่ายอื่นๆอยู่แล้ว) บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าคุณภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังยอมให้มีค่าการตลาดที่สูงกว่าลิตรละ 2 บาท โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา รัฐบาลที่เข้ามาบริหารในระยะสองเดือนที่ผ่านมาก็แก้ไขปัญหาโดยการใช้เงินแผ่นดินจากการลดอัตราภาษีและใช้เงินกองทุนน้ำมันซึ่งติดลบสูงกว่า 70,000 ล้านบาท
รัฐบาลยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงด้วยการปรับโครงสร้างไม่ให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเอาเปรียบได้กำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการประกาศราคาหน้าโรงกลั่นโดยอ้างอิงกับราคาสิงคโปร์ ทั้งที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปสิงคโปร์ปีละหลายหมื่นล้านบาท ต้นทุนพลังงานที่แพงยังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศที่อาจจะได้เปรียบในเรื่องพลังงาน
อันดับ3 ปัญหาดอกเบี้ยแพง ประชาชนฝากเงินได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพง ประเทศไทยไม่การการกำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก ทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบธนาคารยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามไว้ก็ตาม
อันดับ4 ระบบราชการมีปัญหา มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง มีกำหนด KPI ให้หน่วยราชการปฏิบัติแต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ ตัวอย่างเช่น KPI ด้านการศึกษาเป็นภาระให้ครูต้องมาให้เวลากับการปฏิบัติตาม KPI โดยไม่มีการวัดผลกระทบต่อเวลาที่เด็กได้รับน้อยลง เป็นต้น
อันดับ5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีปัญหาขาดทุนเรื้อรังและไม่มีเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา เช่น ขสมก รฟท และ รฟม เป็นต้น ขสมกจึงมีภาระหนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาทเพราะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมากว่า 40 ปี
อันดับ6 กลไกตลาดผู้บริโภคมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นมีลักษณะของการเป็น oligopoly ทั้งในธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม และน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคยังอ่อนแอ
อันดับ7 ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติจากแสงแดด และน้ำบาดาลในปริมาณมากมหาศาล แต่รัฐบาลก็ไม่สนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 2 หมื่นหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้บริโภค การติดตั้ง solar roofs เพื่อส่งไฟฟ้าเข้าระบบก็ยังถูกกีดกัน
อันดับ8 ด้านเทคโนโลยี่ ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นสถานศึกษามากกว่าที่จะเป็นแหล่งสนับสนุนทางวิชาการให้กับธุรกิจโดยเฉพาะ SME งานวิจัยต่างๆมักจะไม่ได้ต่อยอดเพื่อเกิดประโยชน์แก่ภาคการผลิตของเอกชน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี่จากต่างประเทศเป็นหลักด้วยต้นทุนที่สูง
ตัวอย่างของปัญหาโครงสร้างทั้งแปดข้างต้น ได้สะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความสูญเปล่า และเป็นภาระต่อประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยในประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลใดมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและความทุกข์ยาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำและการด้อยโอกาสจำนวนมาก