ข้อถกเถียงสิทธิสตรี ในชุดความคิดทางอิสลามการเมือง ตอนที่ ๑
ข้อถกเถียงสิทธิสตรี ในชุดความคิดทางอิสลามการเมือง ตอนที่ ๑
ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วทส.
กระแสการกลับมาของรัฐบาลตอลิบานทำให้สื่อกระแสหลักตะวันตกหันมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องสิทธิสตรีชาวอัฟกันอย่างกว้างขวางทีเดียว ถึงกับทำให้มีบางส่วนยังไม่แน่ใจว่า คำสัญญาดังกล่าวจะเป็นจริงได้แค่ไหนในทางปฏิบัติ โดยหญิงชาวกรุงคาบูลผู้หนึ่งบอกกับบีบีซีว่า “ฉันไม่เชื่อที่พวกเขาพูด มันเป็นแผนลวงที่จะหลอกเอาตัวพวกเราไปลงโทษ ฉันจะไม่เรียนหรือทำงานภายใต้กฎของพวกเขาเด็ดขาด”
สตรีชาวอัฟกันอีกผู้หนึ่งบอกว่า “ถ้าผู้หญิงสามารถทำงานและได้รับการศึกษาจริง นั่นก็ตรงกับนิยามของคำว่าเสรีภาพในแบบของฉัน ตราบใดที่สิทธิของผู้หญิงทั้งสองอย่างนี้ได้รับการปกป้อง ฉันยินดีจะคลุมศีรษะตามหลักการของอิสลาม แต่จะไม่ยอมสวมชุดคลุมบุรกาที่ปกปิดทั้งตัว ซึ่งไม่ใช่การแต่งกายตามหลักอิสลามอย่างที่เข้าใจกัน”
ประเด็นปัญหาเรื่องสตรีในโลกอิสลามถือว่าเป็นประเด็นที่คนนอกสังคมมุสลิมไม่รู้และเข้าใจผิดกันมากและเมื่อมองจากภายนอกด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจแล้ว ภาพพจน์ของสตรีในสังคมมุสลิมอาจจะกลายเป็นบุคคลลึกลับ บุคคลที่มีสถานภาพเป็นที่กังขาในความเท่าเทียมกับบุรุษ เป็นประเด็นที่ผู้เลื่อมใสในลัทธิเพศนิยม (feminism) หยิบยกมาโจมตีในเวทีโลกอยู่เนืองๆ
การฉายภาพถึงบทบาทของสตรี ถือว่ารัฐคือบทบาทสำคัญของตัวแสดงนั้น เพื่อจะศึกษาทำความเข้าใจสถานภาพและบทบาทของสตรี และยังถือว่ากรบวนทัศน์ทางการเมืองแบบอิสลามการเมืองยุคปัจจุบันก็คงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นสตรีในอิสลามได้อย่างกว้างขวางและถูกต้อง ไม่ว่าในแต่ละสังคมอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ประเทศ ตลอดจนลัทธิการปกครอง แต่ทุกสังคมมุสลิมย่อมมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการยึดถือตามแนวทางของอิสลาม ตามคำสอนในพระอัลกุรอานและตลอดจนคำสอนของนักวิชาการศาสนาท่านอื่นๆ ดังนั้น หากจะเริ่มกันที่หลักคำสอนของอิสลามแล้ว การเรียนรู้และทำความเข้าใจในสถานภาพ สิทธิและหน้าที่หรือคุณสมบัติของสตรีตามแนวทางอิสลาม จะเป็นปฐมบทเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมมุสลิม ไม่ว่าสังคมหรือชุมชนนั้นจะอยู่ที่ใดในโลก
แนวคิดอิสลามการเมืองนั้นถือว่ารัฐเป็นสิ่งจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญอันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งอิสลามได้ คือการนำอิสลามมาใช้เพื่อสร้างความสันติและความเป็นธรรมในทุกแง่มุมของชีวิตของทั้งปัจเจกบุคคลและส่วนรวมทั้งนี้รัฐยังมีอำนาจในการส่งเสริมการทำความดีและยับยั้งการกระทำความชั่วซึ่งเป็นความชอบธรรมของรัฐในการให้คุณให้โทษดังกล่าวได้
อาบู มาลา เมาดูดี ได้แยกแยะองค์ประกอบหลักของระบบการเมืองการปกครองอิสลามไว้สามประการด้วยกันดังนี้ คือ แนวคิดเรื่องความเป็นเอกภาพของพระเจ้าหรือเตาฮีด ในที่นี้หมายถึงมุสลิมต้องเชื่อว่าอัลเลาะห์เพียงพระองค์เดียวที่เป็นผู้สร้าง ผู้อภิบาลและผู้มีอำนาจสุงสุดสากล มีสิทธิในการบังคับบัญชาและสั่งห้าม วางระเบียบต่างๆ ไม่มีผู้ใดที่เป็นภาคีต่อพระองค์ซึ่งสิ่งนี้เป็นการปฏิเสธอธิปไตยของมนุษย์ในทางการเมืองและในเรื่องของกฎหมายทั้งในระดับปัจเจกบุคคลหรือส่วนรวม เพราะไม่มีใครมีอำนาจในการออกกฎหมายนอกจากอัลเลาะห์เท่านั้น(จรัญ มะลูลีม อิสลามการเมือง ในการเมืองตะวันออกกลาง)
โดยทั่วไปแล้วแนวคิดทางการเมืองของนักการเมืองหรือนักปรัชญาการเมือง เขาจะมีพื้นฐานหลักคิดนั้น จากหลักปรัชญา ญาณวิทยา มานุษยวิทยาและระเบียบวิธีการศึกษาที่เป็นการเฉพาะที่มีความสัมพันธ์กับตัวของเขา ดังนั้นนักปรัชญาการเมืองในโลกอิสลามหรือนักการเมืองทั่วไปจะผ่านกรอบแนวคิดดังกล่าวกันทั้งสิ้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ขอยกตัวอย่าง นักปรัชญาผู้โด่งดังของโลกอิสลาม อบูนัสน์ อัลฟารอบี กับการนำเสนอในปรัชญาการเมืองเรื่องนครแห่งอารยะ(City of Moral) ผ่านกรอบแนวคิดทางอภิปรัชญาและญาณวิทยา ซึ่งได้นำเสนอว่าผู้นำรัฐหรือผู้ปกครองนั้น ต้องมีภาวะผู้นำ(LeaderShip) โดยผู้ปกครองนั้นต้องอยู่ในฐานะปราชญ์(Philosopher)ที่เข้าถึงองค์ปัญญาและมีระดับปัญญาที่พร้อมทุกขณะจิต และถ้าผู้นำรัฐหรือผู้ปกครองมีภาวะความต่ำลงของปัญญาก็อาจจะทำให้นครแห่งอารยะ กลายเป็นนครแห่งความชั่วร้ายไป(City of Evil))
ภาพจำ ภาพจริง สิทธิสตรีในอิสลาม
เมื่อพูดสตรีมุสลิมวันนี้สิ่งแรกที่คนส่วนมากนึกถึงก็คือภาพของสตรีภายใต้ผ้าคลุมศรีษะ และเสื้อผ้าสีทึบที่ปกคลุมเรือนร่างอย่างมิดชิด หลายคนมองภาพของผู้หญิงถูกบังคับให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ต้องสวมใส่ผ้าคลุมศรีษะ และถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอะไรทำนองนั้น เป็นภาพจำที่สะท้อนถึงความเลวร้ายของสตรีหรือร้ายไปกว่านั้นสื่อกระแสหลักพยายามจะชี้นำไปในทางที่เป็นลบต่อภาพลักษณ์ของสตรีในอิสลามเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสอนของศาสนาถึงการละเมิดสิทธิสตรีอย่างรุนแรง และนำมาความไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ต่อสตรี กลายเป็นการสร้างกระแสโหมโรงโจมตีศาสนาอิสลามในประเด็นเรื่องสตรีจนถึงวันนี้ก็ว่าได้
จนกระทั้งได้มีงานวิจัยด้านสตรีอิสลามได้ถูกเผยแพร่มากขึ้น ข้อมูลทางวิชาการถูกนำไปบรรจุไว้ในฐานข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ ทำให้ผู้มีใจเป็นธรรมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงและตรวจสอบได้
ในปี 2020 ที่ผ่านมา ได้มีนักศึกษาสตรีชาวอิสราเอล ได้ทำดุษฎีนิพนธ์ ปริญญาเอก ว่าด้วยเรื่อง “อิทธิพล ท่านหญิงฟาติมะฮ์ บุตรตรีศาสดาอิสลาม”เธอได้เขียนผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ว่า โครงสร้างหลักทางนโยบายรัฐของอิหร่านต่อเรื่องบทบาทสตรี เป็นการตกผลึกทางสารัตถะวิถีแห่งธรรมะท่านหญิงฟาติมะห์ จนสามารถสร้างแบบอย่างสตรีในอิสลามได้อย่างภาคภูมิ และท่านหญิงฟาติมะห์คือแรงบันดาลใจของการยืนหยัดต่ออิสลามการเมืองจนประสบความสำเร็จในสังคมแบบอิสลามอย่างน่าพิศวงทีเดียว
หรือถ้าตรวจสอบชุดความรู้เกี่ยวกับผู้หญิงหรือสตรีภายใต้ชุดคำอธิบายที่เป็นกระแสหลัก ที่ได้รับการถ่ายทอดโดยนักวิชาการจากฝั่งตะวันตกก็ดีหรือจากนักการศาสนาอิสลามหรือจากผู้รู้ที่อาศัยการตีความตัวบทจากแหล่งอ้างอิงมาจากคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ศาสดา(ศ)หรือจากประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามก็ดี ถือว่าในมุมหนึ่งได้ถูกถ่ายทอดออกมาเหมือนประหนึ่งว่าเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของอิสลามว่า แท้จริงผู้หญิงในอิสลามได้ถูกโยงระหว่างเรื่องวินัยหรือเรื่องสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งควรปฏิบัติเท่านั้น โดยเป็นมายาคติว่าความเป็นผู้หญิงต้องเป็นผู้อยู่กับบ้านกับเรือน เป็นภรรยาที่ดี อยู่ในโอวาทของผู้ปกครองและสามี เป็นอีกภาพจำหนึ่งที่สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้หญิงในอิสลามอย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่สื่อก็ได้ออกมาเป็นภาพซ้ำอยู่ทุกยุคทุกสมัยว่าสตรีในอิสลามคือเพศที่อยู่ภายใต้บุรุษ ไม่มีสิทธิทางการเมือง ทางสังคมใดๆ ไม่มีสิทธิในการเป็นนักบริหารอะไรทำนองนั้น
ทั้งๆที่ภาพจริงจากคำอธิบายในเอกสารประวัติศาสตร์ศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอน หรือแม้แต่ในแบบฉบับของศาสดามุฮัมมัด(ศ)เอง ได้กล่าวถึงสตรีในหลากหลายสถานะและหลายบทบาท เช่น ราชินีบิลกีส เป็นผู้นำทางการปกครองเมืองซาบาอ์แห่งเยเมนในยุคก่อนศาสดามุฮัมมัด หรือพระนางมาเรียหรือท่านหญิงมัรยัม มารดาพระเยซูของชาวคริสต์ ได้แสดงถึงความเป็นหญิงในฐานะมารดาบริสุทธิ์ของศาสดาอีซา เป็นผู้ต่อสู้กับคำกล่าวหาและให้ร้ายจากสังคมเมื่อเธอให้กำเนิดบุตร โดยปราศจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือ พระนางอาซียะฮ์ ภรรยาของฟาโรห์ผู้อหังการ แต่เธอผู้เปี่ยมล้นความเมตตา ได้เป็นผู้ดูแลศาสดามูซา
หรือท่านหญิงฟาติมะฮ์ บุตรตรีแห่งศาสดาอิสลาม ผู้สูงศักดิ์และได้รับการย่กย่องว่า “อุมมุ อะบีฮา”มารดาของบิดาของเธอ” เธอผู้มีบทบาททั้งในบ้านและในสมรภูมิสงคราม ฟาติมะฮ์ เป็นนักท่องจำฮะดีษ เป็นปราชญ์ และเป็นครูสอนประชาชนชาวมะดีนะฮ์ เป็นนักต่อสู้ และเรียกร้องสิทธิต่างๆในสังคม เธอถูกยกย่องว่าเป็นสตรีต้นแบบ และอยู่ในฐานะ “ประมุขสตรีในสรวงสวรรค์” เลยทีเดียว
กลับกันสื่อกระแสหลักไม่ค่อยจะกล่าวถึงสถานะของผู้หญิงในอิสลามในทางบวกสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงอิหร่านยุคหลังปฎิวัติ 1979 ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วสตรีในอิหร่านวันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและในด้านการศึกษา อิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในการยกระดับการศึกษาของผู้หญิง ลดช่องว่างของหญิงชายในด้านการศึกษา ในด้านแรงงาน อิหร่านมีผู้หญิงที่ทำงานเป็นข้าราชการถึงหนึ่งในสามของจำนวนข้าราชการทั้งหมด มีผู้หญิงรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกต่างๆนับร้อย และในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 1999 มีผู้หญิงถึง 5,000 คนลงสมัครรับเลือกตั้ง และในจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำท้องถิ่นถึง 300 คน และยังจะได้เห็นบทบาทสตรีที่อยู่ในฐานะเป็นรองประธานาธิบดีของประเทศ หรือเป็นผู้ขับเคลื่อนทางสังคมอย่างน่าชื่นชม