เล่าต่อถึงความวุ่นวายในศรีลังกา
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
เล่าต่อถึงความวุ่นวายในศรีลังกา
เขียนไปแล้วเมื่อคราวที่ผ่านมา (๑๔ เมษายน ๒๕๖๕) ถึงสาเหตุความวุ่นวายในศรีลังการ ที่เกิดจลาจลไปทั่ว เพราะการขาดแคลนเชื้อเพลิง ยารักษาโรคและข้าวปลาอาหารอย่างสาหัส สร้างความเดือดร้อนจากชนทุกหมู่เหล่า
เหตุผลของปัญหามาจากสองเรื่องใหญ่ๆ คือภาวะการแพร่ระบาดของ “โควิด 19”ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสื่อมสลายของจักรกลทางเศรฐกิจ ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาสงครามยูเครน ทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิง ถึงกับในที่สุด รัฐบาลศรีลังกา ต้องตัดสินใจประกาศเลื่อนการชำระหนี้ต่างประเทศไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริงอีกอย่าง ซึ่งจะต้องพูดถึงก็คือ ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการการเงินการคลังของรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งตั้งอยู่บนความประมาทเลินเล่อและสงสัยว่าจะเกิดจากการคอรัปชั่นด้วย
ปรากฏว่า เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้แล้ว รัฐบาลศรีลังกา ก็ยังขยับหาวิธีแก้ไข ไปไม่ถึงไหน แถมเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายนที่ผ่านมา ตำรวจยิงผู้ประท้วงเสียชีวิตไปอีกหนึ่งคนที่เมือง”รัมบุคคานา”ในภาคกลางเพราะยังคงมีการจลาจลไม่เลิก
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่ทำได้ก็คือ ปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีใหม่หมด ๑๗ นาย หลังยกกระบิลาออก รวมทั้งคนในตระกูล”ราชปักษา”สามคนก็พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เพราะถูกวิจารณ์อย่างแรงว่า เข้าไปเล่นการเมืองโดยอาศัยการเล่นพรรคเล่นพวก อันน่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การกระทำฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเป็นระบบ
แต่ประธานาธิบดี”โกฐอภัย ราชปักษา”(น้องชาย)และนายกรัฐมนตรี”มหินทรา ราชปักษา”(พี่ชาย)ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งอย่างเหนียวแน่น ไม่หนีไปไหน
แม้จะมีการชุมนุมขับไล่อย่างไร ๆ ก็ไม่ลาออก กล่าวได้ว่า ยังไม่ยอมละทิ้งหน้าที่
ที่ต้องถูกตำหนิมากก็คือ การใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มคนที่ประท้วงขับไล่ผู้นำรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ทางเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงโคลัมโบ ออกโรงตำหนิแล้ว ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ในขณะที่ทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล(เอสแอลพีพี) ก็เริ่มผละไปนั่งร่วมกลุ่มกับส.ส.พรรคฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านรัฐบาลในการประชุมสภา
ในอีกทางหนึ่งนั้น ศรีลังกาได้ส่งตัวแทนไปยังกรุงวอชิตัน ดีซี หมายเจรจากับเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เพื่อขอความช่วยเหลือ ๓ – ๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ หวังปรับดุลการชำระเงินให้ดีขึ้น และแก้ไขปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ลดพร่องลงไปมาก จนต้องประกาศผลัดหนี้
แรก ๆ ทางกรุงวอชิงตัน ดีซี ก็แสดงอาการอิดๆ ออดๆ ไม่สนใจช่วยเหลือศรีลังกาเพราะที่ผ่านมา ศรีลังกามีท่าทีสนับสนุนจีน แต่แล้วก็คงต้องยอม เพราะจำเป็นต้องแสวงหามิตรในยามที่รัสเซียจับมือกับจีนเพื่อทำสงครามรุกรานยูเครน
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะเจ้าหน้าที่ศรีลังกา นำโดยรัฐมนตรีคลัง”อาลี ซาบรี”เริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ในวันจันทร์ที่ ๑๘ เมษายน ด้วยข้อเสนอที่หวังจะช่วยเพิ่มทุนสำรองเพื่อสร้างสะพานเชื่อมต่อนำไปสู่การนำเข้าเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรค หมายแก้ไขปัญหาภายในให้ได้
ถามว่าพอจะมีหวังไหม ที่ไอเอ็มเอฟ จะยินยอม
ตอบว่ามีแน่ แต่ก็คงด้วยเงื่อนไขที่เข้มข้น หมายจะได้เงินคืนครบถ้วนกระบวนความ
เงินที่ต้องการให้ช่วยนี้เรียกว่า เครื่องมือการเงินการคลังอย่างเร็ว หรือ Rapid Financing Instrument เรียกย่อ ๆ ว่า อาร์เอฟไอ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศรีลังกา บอกว่า อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทน อาร์เอฟไอ ก็จะออกแรงช่วยอีกทางหนึ่ง และก็หวังด้วยว่า ไอเอ็มเอฟ จะช่วยด้วยเงื่อนไขที่ไม่เหมือนใคร
อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟ ไม่ใช่ความหวังเดียวของศรีลังกาในการแก้วิกฤติคราวนี้ แต่ยังหวังพึ่งธนาคารโลกและอินเดียไปพร้อมๆ กันด้วย เฉพาะได้จาก ไอเอ็มเอฟ ไม่เพียงพอแน่ๆ
หากมีความคืบหน้าออกมาอย่างไร ผมจะติดตามนำมาแจ้ง ให้ทราบอีกทีครับ
ตอนนี้ ทำได้ ก็ด้วยการลุ้นให้ชาวศรีลังกาไปรอดเท่านั้น
อ่านแล้ว จำกันให้ดีนะครับ ว่าอย่าไปเลือกเอา”รัฐบาลแสร้งโง่” หรือไร้ความสามารถ ขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเด็ดขาด