ผลพวงเหตุการณ์ 9/11
ผลพวงเหตุการณ์ 9/11
อ.สุรชาติ บำรุงสุข
วันเสาร์ที่ 11 กันยายน นี้ จะเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา โดยในวันนั้นมีการใช้อากาศยานโดยสารโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ที่นครนิวยอร์ก โจมตีตึกกระทรวงกลาโหมที่กรุงวอชิงตัน และอากาศยานอีกลำตกลงกลางทุ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย
การโจมตีสหรัฐฯ ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญ ไม่ใช่เพียงกับสังคมอเมริกันเท่านั้น หากเป็นเหตุสำคัญกับความเป็นไปในเวทีโลกอีกด้วย เพราะการก่อการร้ายในวันที่ 11 นี้เป็นเสมือนกับสัญญาณของการเริ่มต้นด้วยศตวรรษที่ 21 ด้วยความรุนแรง และการก่อเหตุครั้งนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เหตุการณ์ 9/11”
แต่ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ต่างกับหลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนทั้งชีวิตคน ชีวิตสังคม และชีวิตโลก
ดังนั้น ในวาระครบรอบสองทศวรรษของเหตุการณ์ 9/11 จึงอยากจะขอชวนรำลึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยอาจจะขอชวนรำลึกด้วยคำถามง่ายๆว่า ถ้าย้อนกลับไปสู่อดีตแล้ว ท่านอายุเท่าไหร่ในวันนั้น? … ท่านอยู่ที่ไหนในวันนั้น? … ท่านเห็นแล้วท่านคิดอย่างไร?
สำหรับส่วนตัวแล้ว ผมอยากจะขอเล่าสักนิดถึงอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์
มหานครนิวยอร์กเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทางวิชาการของตัวผม โดยหลังจากได้รับนิรโทษกรรมจากคดี 6 ตุลาฯ แล้ว ผมได้สมัครขอทุนไปฝึกงานกับองค์กรที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษย์ชนที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก เมื่อมาถึงแล้ว สิ่งแรกๆที่พี่คนไทยพาไปเที่ยวชมก็คือ “อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์” ซึ่งเป็นหมู่อาคาร และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองคู่กับตึกเอมไพร์สเตท หรือตึกในภาพยนตร์เรื่อง “คิงคอง” และหลังจากนั้น ผมมีหน้าที่พาอาจารย์ และเพื่อนหลายคนที่แวะมาเที่ยวนิวยอร์กไปเที่ยวที่ตึกนี้
การไปขึ้นไปชมอาคารสูงระฟ้าอย่างตึกเวิลด์เทรดนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นทั้งความตื่นเต้น และความตื่นตา ซึ่งในช่วงที่ผมออกจากประเทศไทยไปในปี 2523 นั้น เรายังไม่มีอาคารที่สูงมากๆในกรุงเทพฯ และตื่นเต้นที่สุดอีกส่วนคือ ความเร็วของลิฟต์ที่พาเราขึ้นสู่ชั้นสูงสุดที่สูงถึง 110 ชั้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในวันที่อากาศดี เราสามารถเดินออกไปชมวิวนอกห้องกระจก และจะมองเห็นออกไปไกลสุดสายตาจริงๆ
เป็นอันว่าใครมาเที่ยวนิวยอร์ก ผมต้องพาไปเยี่ยมชมอาคารนี้ เพราะถือว่าอาคารนี้เป็น “หมุดหมาย” ของเมือง และเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมร่วมสมัยของความเป็นนิวยอร์ก
เมื่อผมกลับไปเรียนปริญญาเอกที่นิวยอร์กอีกครั้ง อาคารเวิลด์เทรดกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผมและครอบครัวมักจะแวะเวียนไปเที่ยวเล่นในเย็นวันศุกร์ ทุกวันศุกร์จะมีตลาดนัดเกษตรกร หรือเป็น “ฟาร์เมอร์มาร์เกต” ซึ่งเรามักจะซื้อสินค้าอาหารกลับบ้าน และขณะเดียวกันลูกชายผมจะชอบไปวิ่งเล่นที่ลานขนาดใหญ่ของอาคารดังกล่าว ฉะนั้น สำหรับเราแล้ว อาคารนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมที่นิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในความทรงจำของชีวิต
ว่าที่จริงแล้ว อาคาร “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ไม่ใช่ตึกแฝดอย่างที่เรามักจะได้ยินจากข่าว แต่เป็นหมู่ตึกของอาคารชุด จำนวนเจ็ดอาคาร และอาคารนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางใต้ของเกาะแมนฮัตตัน อาคารนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2509 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2518 ด้วยมูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 400 ล้านเหรียญอเมริกัน และเปิดทำการในวันที่ 4 เมษายน 2516
แต่อาคารทั้ง 7 นี้ อาคารที่สูงที่สุดคือ อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 และอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ 2 ซึ่งมีความสูงถึง 110 ชั้น อาคารที่เหลืออีกส่วนไม่สูงมากนัก เช่น อาคารเวิลด์เทรด 7 สูง 47 ชั้น หรือ อาคารเวิลด์เทรด 3 สูงเพียง 22 ชั้น ส่วนอีกสามตึกไม่สูงมากนัก
ในบริบททางการเมืองนั้น อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ไม่ใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของนิวยอร์กเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของความเป็นอเมริกัน หรือบางคนอาจจะบอกว่าอาคารนี้มีนัยที่เป็นตัวแทนถึงความยิ่งใหญ่ของระบบ “ทุนนิยมอเมริกัน” อีกด้วย
ดังนั้น อาคารนี้จึงเป็นดังสิ่งที่ “ยั่วยวน” ให้ฝ่ายต่อต้านอเมริกัน อยากทำลาย แต่การทำลายตึกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ว่าจะมีการออกแบบให้ตัวอาคารมรความแข็งแรง สามารถทนต่อการเกิดภัยที่เกิดขึ้น และยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการก่อเหตุร้ายกับตัวอาคาร ดังจะเห็นได้ว่า ความพยายามครั้งแรกในการทำลายอาคารนี้ด้วยการวางระเบิดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 การวางระเบิดครั้งนี้เกิดในชั้นใต้ดินด้วยรถระเบิด แต่ไม่สามารถทำลายอาคารได้จริง
การวางระเบิดในปี 2536 มาจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ซึ่งในทางความมั่นคงแล้ว เท่ากับเป็นสัญญาณเตือนภัยอย่างชัดเจนว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเดินทางมาถึงตัวประเทศของสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งแต่เดิมเหตุรุนแรงมักจะเกิดนอกประเทศสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเกิดในตะวันออกกลาง ในเอเชียใต้ หรือในยุโรป แต่การใช้รถระเบิดครั้งนี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า สหรัฐฯ อาจไม่สามารถปกป้องตัวเองให้พ้นจากการก่อการร้ายที่เป็นความรุนแรงจากภายนอกได้ แม้สหรัฐฯ จะสามารถป้องกันตัวภาคพื้นทวีปให้ปลอดภัยได้ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในช่วงสงครามเย็น
แล้วในที่สุด ปฎิบัติการที่เกินจินตนาการเกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2544 เมื่อเครื่องบินโดยสารแบบ โบอิ้ง 767 สองลำพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรด 1 และ 2 โดยมีระยะเวลาชนห่างกันเพียงไม่กี่นาที และในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสองชั่วโมง อาคารสูงทั้งสองจึงพังทลายลง มีผู้ที่ติดอยู่ในอาคารเสียชีวิต 2,606 คน และผู้โดยสารบนเครื่องบินทั้งสองลำเสียชีวิตอีก 157 คน
วันที่เครื่องโบอิ้งทั้งสองพุ่งชนอาคาร ภาพปรากฎเป็นข่าวในไทยทันที … มีเพื่อนสนิทโทรมาว่า ให้รีบเปิดทีวี สงสัยอเมริกันกำลังถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งตอนนั้นหลายคนเชื่อว่า ภาพที่เห็นเป็นการถ่ายหนัง และแทบไม่มีใครเชื่อเลยว่า เรากำลังเห็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของโลกผ่านหน้าจอโทรทัศน์
ผมยอมรับว่า เห็นแล้ว “ช็อค” อย่างมาก เพราะไม่เพียงตกใจกับภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังตกใจกับภาพการทำลายอาคารสูงที่เมื่อครั้งที่ผมเรียนปริญญาเอกเคยใช้เป็นเหมือนสถานที่พักผ่อนในเย็นวันศุกร์ และที่สำคัญ การก่อเหตุในครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า การเดินทางของการเมืองโลกสู่ศตวรรษที่ 21 คือ การเดินทางสู่สงคราม แล้วต่อมาในต้นเดือนตุลาคม 2544 ผู้นำทำเนียบขาวก็ตัดสินใจเปิด “สงครามอัฟกานิสถาน” แต่เมื่อสงครามผ่านไป 20 ปี กลับจบลงอย่างไม่น่าเชื่อด้วยชัยชนะของกลุ่มที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีส่วนพัวพันกับการก่อการร้ายที่ทำลายอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์
ถ้าเช่นนั้น วันที่ 11 กันยาฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้วท่านอยู่ที่ไหน ท่านคิดอย่างไร … แล้ววันนี้ท่านคิดอย่างไร?