คิดอย่างคานธี (1)
คิดอย่างคานธี (1)
จรัญ มะลูลีม
ในอินเดียมหาตมคานธีถือเป็นบิดาของชาติ ชีวิตของคานธีถือเป็นการถอดบทเรียนของชายที่ชื่อ Mohandas Karamchand Gandhi หรือคานธีผู้ถูกประดับด้วยเครื่องหอมหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ Mahatma Gandhi เจ้าของบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร
ปรัชญาของคานธีคืออะไร?
ปรัชญาของคานธีเป็นความคิดทางศาสนาและสังคมที่นำมาใช้และพัฒนาโดยตัวของมหาตมคานธีเอง ปรัชญาของคานธีมีอยู่ในหลายระนาบ – เป็นการรวมเข้าด้วยกันของจิตวิญญาณหรือศาสนา ศีลธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัจเจกบุคคลและส่วนรวม ปรัชญาของคานธีไม่ได้เน้นอุดมคติแบบยูโทเปีย (Utopian idealism) แต่เป็นอุดมคติเชิงปฏิบัติ (Practical idealism)
รากฐานทางความคิดของคานธี
คานธีเกิดในอินเดียในปี 1869 จากปี 1893 ถึงปี 1914 เขาอาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ ต่อมาเขากลายเป็นแนวหน้าของขบวนการเสรีภาพของอินเดีย รากฐานทางปรัชญาของคานธีคือองค์ประกอบทางจิตวิญญาณหรือศาสนา เขาเป็นผู้เชื่อมั่นในพระเจ้า เขายังเป็นผู้ศรัทธาในมนุษยชาติ เขาเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้คานธียังมีความเชื่อมาโดยตลอดว่าทุกคนมีความสามารถในการพัฒนาทางศีลธรรม
คานธีจี (Gandhiji) หรือท่านคานธี เป็นชื่อที่อยู่ในจิตใจของคนร่วมสมัยของคานธีทุกคน โดยคานธีพัฒนาอุดมการณ์เหล่านี้จากแหล่งสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ เช่น จากคัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Geeta) ศาสนาเชน (Jainism) พุทธศาสนา คัมภีร์ไบเบิลหรือจากนักคิดของอินเดียเองอย่าง โกปาล กฤษณะ โกขเล (Gopal Krishna Gokhale) หรือจากนักคิดนอกรปะเทศอินเดียอย่างตอลสตอย (Tolstoy) และจอห์น รัสกิน (John Ruskin) เป็นต้น หนังสือของลีโอ ตอลสตอย เรื่อง อาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในตัวคุณ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อมหาตมคานธี เช่นเดียวกับกรณีของ ‘Unto This Last’ ของ John Ruskin
คานธีถอดความหนังสือ ‘Unto This Last’ ของรัสกินเป็น ‘Sarvodaya’ หรือสรรโวทัยซึ่งหมายถึงการยกระดับของทั้งหมด เป้าหมายของคานธีคือการเปลี่ยนแปลงสังคมและคนแต่ละคนโดยใช้ค่านิยมของความซื่อสัตย์และอหิงสา (Non Violence) แนวคิดเหล่านี้ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมโดยสานุศิษย์หลายคนของคานธีที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ปฏิบัติตามคานธี” (Gandhians) หรือตามแนวคิดของคานธีอย่างภาคภูมิใจ ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการคานธีอย่างจริงจังในชีวิต ได้แก่วิโนบา เบฟ (Vinoba Bhave) ชัยประกาศ นารายัน (Jayaprakash Narayan) (เจ้าของวาทะ Simple Living High Thinking – อยู่อย่างง่ายใคร่ครวญสูง) และ Martin Luther King Jr.
ความคิดของของคานธีที่มีความสำคัญ
1. ความจริงและการไม่ใช้ความรุนแรง (Truth and Non Violence)
โดยทั่วไปถือว่าสิ่งเหล่านี้ (Truth and Non Violence) เป็นส่วนผสมหลักสองประการของความคิดแบบคานธี เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติตามอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือการไม่ใช้ความรุนแรง สำหรับคนบางกลุ่มการแสวงหาความจริงอาจทำได้โดยใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ความขัดแย้งโดยสมมติว่าประเทศของพวกเขาอยู่ฝ่ายความจริงหรือว่าความจริงเข้าข้างพวกเขา ผู้ที่มีความรู้สึกไวกว่าและคิดว่าความจริงอยู่ฝ่ายตนต้องการการต่อสู้ที่ยุติธรรมแทนที่จะเป็นสงครามที่หลีกเลี่ยงได้ในทุกวิถีทาง ผู้ที่อ่อนไหวที่สุดคือพวกรักความสงบในหมู่พวกเขา โดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง แต่อาจเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการทำเช่นนั้นพวกเขาไปไกลเกินไปและละทิ้งความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกตีความว่าเรื่องที่พวกเขาต่อสู้เป็นเรื่องของความยุติธรรม แม้แต่มหาตมคานธีก็แย้งว่าแม้เขาจะต่อต้านสงคราม แต่ทั้งสองฝ่ายที่มีส่วนร่วมในสงครามก็ไม่อาจยืนอยู่บนระนาบเดียวกันได้ สาเหตุของฝ่ายหนึ่งอาจมีมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นแม้แต่คนที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็อาจต้องการขยายหรือต้องการการสนับสนุนทางศีลธรรมให้แก่เขาและเธอในด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น ในขณะที่มีความเป็นไปได้ที่จะไล่ตามความจริงโดยไม่ใช้ความรุนแรง มันก็เป็นไปได้ที่จะไล่ตามอหิงสาโดยไม่ไล่ตามความจริงเช่นกัน แต่ประเด็นต่างๆ จะชัดเจนขึ้นหากเราใช้คำว่า “ความจริง” เพื่อแสดงถึงสิ่งที่ “ถูกต้อง” ที่ควรทำ
2. สัตยากราหะ (Satyagraha) หรือสัตยาเคราะห์ (ในภาษาฮินดีหมายถึงที่พำนักแห่งความจริงหรือขบวนการที่ถูกต้องชอบธรรม)
แนวคิดนี้ได้รับการแนะนำในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยมหาตมคานธี และกำหนดให้มีการต่อต้านความชั่วร้ายอย่างแน่วแน่แต่ไม่รุนแรง แนวคิดเรื่องความจริงอันสูงสุดนำไปสู่อุดมการณ์ของคานธีว่าด้วยสัตยากราหะ อันเป็นการปกป้องมาตรฐานและหลักคำสอนที่ว่าความจริงเป็นสิ่งสำคัญหากเป็นความจริงสูงสุด พระเจ้าผู้ทรงเป็นสัจธรรมและความจริงสูงสุด ทรงเรียกร้องมนุษยให้เป็นผู้มีใจเมตตาและไม่เห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง สัตยากราหะของคานธีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษในอินเดีย และตั้งแต่นั้นมากลุ่มผู้ประท้วงในประเทศอื่นๆ ก็นำมาใช้ ส่วนปรัชญาอินเดียโบราณเรื่องอหิงสา หรือ “การไม่บาดเจ็บ” ก็เป็นปรัชญาที่มาจากผู้นับถือศาสนาเชนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐคุชราต ซึ่งเป็นที่ที่คานธีได้รับการเลี้ยงดู คานธีถือปฏิบัติในเรื่องของอหิงสาอย่างเคร่งครัด เป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังสัตยากราหะ
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าคานธีได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของลีโอ ตอลสตอย(รวมทั้งงานของเฮนรี เดวิด ธอโร) คัมภีร์ไบเบิลและภควัทคีตา ซึ่งเขาได้เขียนคำบรรยาย เพื่อปรับปรุงแนวคิดเรื่องอหิงสาให้ทันสมัย และให้ความหมายทางการเมืองในวงกว้างว่าด้วยสัตยากราหะ คานธีคิดสัตยากราหะครั้งแรกในปี 1906 เพื่อตอบสนองต่อกฎหมายการเลือกปฏิบัติที่กระทำต่อชาวเอเชียที่ออกโดยรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกาใต้
ในปี 1917 แคว้นจำปารัน (Champaran) ซึ่งผลิตคราม (Indigo) ได้เป็นเจ้าภาพจัดแคมเปญ สัตยากราหะ ครั้งแรกในอินเดีย การอดอาหารและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจถูกใช้เป็นกลยุทธ์สัตยากราหะหรือสัตยาเคราะห์ในอินเดียในช่วงหลายปีต่อมา จนกระทั่งอังกฤษจากไปในปี 1947
อย่างไรก็ตาม Satyagraha ได้ทิ้งมรดกที่ยั่งยืนไว้ในเอเชียใต้และเป็นองค์ประกอบสำคัญของขบวนการสิทธิพลเมืองที่นำโดย Martin Luther King Jr. ในสหรัฐ
3. สรรโวทัย (Sarvodaya)
คำว่า “สรรโวทัย” หมายถึง “การยกระดับขึ้นสู่สากล” (Universal Uplift) หรือ “ความก้าวหน้าของทั้งหมด” โมฮันดาส คานธี ใช้วลีนี้เป็นครั้งแรกเพื่ออธิบายจุดมุ่งหมายของปรัชญาของเขาในการแปล “Unto This Last” ในปี 1908 ผลงานของจอห์น รัสกิน เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง ต่อมาผู้ปฏิบัติตามคานธีใช้วลีนี้สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในอินเดียยุคหลังเอกราช ซึ่งทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการกำหนดใจตนเองและความเท่าเทียมสามารถเข้าถึงทุกชนชั้นของสังคมอินเดีย รวมถึงวิโนบา เบฟ (Vinoba Bhave) ผู้นำการไม่ใช้ความรุนแรงของอินเดีย