ประชาธิปไตยหรือธนาธิปไตย
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยหรือธนาธิปไตย
ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการเลือกตั้งโดยเสรีและโปร่งใส เพื่อสรรหาตัวแทนประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นการทดแทนการมาทำหน้าที่โดยตรงในสภาประชาชน
และเมื่อคนจำนวนมากต่างก็ยอมรับกันว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในโลกประชาธิปไตย เราจึงควรจะนำเอาข้อมูลของการเลือกตั้งในสหรัฐฯมาวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ
อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เป็นหนึ่งใน 4 ประธานาธิบดีที่ได้รับการยกย่อง และมีการแกะสลักรูปท่านที่ภูเขารัชมอร์ ได้เคยกล่าวสุนทรพจน์อันเป็นที่จดจำมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” โดยวลีนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และที่อื่นๆที่ใช้ระบอบนี้ในการปกครอง
ทว่า 30 ปีต่อมา วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ มาร์ก แอนนา ก็ได้กล่าววาทะกรรมที่ไม่มีใครอยากจดจำ แต่มันสะท้อนความเป็นจริงของการเมืองในสหรัฐฯ ที่แปรเปลี่ยนไป โดยเขากล่าวว่า “สิ่งสำคัญ 2 ประการทางการเมือง หนึ่งคือ เงิน ส่วนสอง ข้าพเจ้าจำไม่ได้แล้ว”
ต่อวลีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเพียงไม่นานที่ทนายความจนๆอย่างอับราฮัม ลินคอล์น จากรัฐอิลินอยด์ ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯในระยะต่อมา การเมืองของสหรัฐฯก็แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยมีปัจจัยสำคัญคือ “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเป็นนัยสำคัญ
อีก 100 ปีต่อมา การเมืองของสหรัฐฯก็ยิ่งตอกย้ำว่า “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องนโยบายนั้นเป็นรองและหลายครั้งมันเป็นแค่วาทกรรมเท่านั้น
การเลือกตั้งในสหรัฐฯ มีต้นทุนที่สูงมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นเรื่องปกติว่ามันเป็นเกมของการเงิน และการเมืองเป็นของแพงที่คนจนไม่มีสิทธิเข้ามาแข่งขัน นอกจากจะมีนายทุนสนับสนุนซึ่งก็เกิดได้ยาก เพราะนายทุนย่อมสนับสนุนผู้ที่จะยังประโยชน์ให้พวกเขา คือ นายทุน หากคุณเป็นตัวแทนของประชาชนผู้ยากจนและมีนโยบายขัดแย้งกับผลประโยชน์ของนายทุน คุณก็จะหาผู้สนับสนุนที่มีเงินทุนมากๆไม่ได้หรือหายากมาก
ตัวอย่างการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 2022 ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่แพงมาก ใช้เงินเยอะมากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา เพราะทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างต้องการชัยชนะทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนและวุฒิสภา เพื่อหวังผลสำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้าด้วยมันมีผลประโยชน์มหาศาลรออยู่
จากแหล่งข่าวขององค์การไม่หวังผลกำไร พบว่าเงินบริจาคเพื่อการเลือกตั้งทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสมาชิกรวมกันเกิน 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งในปี 2018 ที่มีบันทึกว่ามีจำนวน 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และงบเลือกตั้งนี้มีจำนวนเท่าหรือมากกว่า GDP ของประเทศต่างๆแต่ละประเทศเกือบ 70 ประเทศ
โดยเฉพาะการแข่งขันของวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจีย เพนชิลวาเนีย อริโซน่า วิสคอนซิล และโอไฮโอ ซึ่งถือว่าเป็นสวิงสเตท แต่ละแห่งใช้เงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แน่นอนเงินเหล่านั้นมิได้ถูกใช้ในการซื้อเสียงเหมือนกับในประเทศด้อยพัฒนา แต่มันถูกใช้ในการแคมเปญ การโฆษณา การแจกของที่ระลึกต่างๆ รวมทั้งตั๋วการเข้าชมกีฬาต่างๆ
เรื่องจึงกลายเป็นว่า เราจะได้รัฐบาลของคนรวย โดยคนรวยและเพื่อคนรวย เพราะผู้สนับสนุนทางการเงินเหล่านั้น ย่อมต้องการผลตอบแทนเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของพวกเขา
ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จึงทำให้ประชาชนถูกครอบงำด้วยกลวิธีต่างๆ ของทีมงานเลือกตั้ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าผู้สมัครไม่รวยพอ ก็ต้องมีผู้สนับสนุนที่มีเงินหนามาเป็นสปอนเซอร์
ลองมาดูตัวเลขของการใช้เงินในการแคมเปญที่นั่งในสภาผู้แทนฯในปี 1990 ต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยเก้าอี้ละ 407,500 ดอลลาร์ แต่ในปี 2020 มันขยับขึ้นไปเป็น 2.35 ล้านดอลลาร์ ด้านวุฒิสมาชิกปี 1990 ใช้เงิน 3.87 ล้านดอลลาร์ พอปี 2020 เพิ่มเป็น 27.16 ล้านดอลลาร์
ผู้ว่าการรัฐอิลินอยส์ J.B.Pritzker เศรษฐีพันล้านใช้เงินส่วนตัวในแคมเปญถึง 150 ล้านดอลลาร์
ส่วนในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2022 นั้น ผู้สมัครเกือบทั้งหมดใช้เงินเกินกว่างบที่ตั้งไว้
แน่นอนเงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินบริจาคเพื่อการกุศล แต่ผู้ให้หวังผลตอบแทนทางธุรกิจและการเมือง นอกจากนี้ทุกครั้งที่มีการผ่านกฎหมายสำคัญๆ จะมีล็อบบี้ยิสจากธุรกิจขนาดยักษ์มาทำการประสานงานและมอบผลประโยชน์ทางการเงินให้สมาชิกสภาแต่ละท่าน เพื่อให้สนับสนุนกฎหมายของตน แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน ธุรกิจดังกล่าวได้แก่ ธุรกิจอาวุธ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจน้ำมัน ที่มีเงินมหาศาล จากการทำธุรกรรมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศจากงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชน
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวอเมริกัน ได้เคยสรุปว่าช่องว่างระหว่างรายได้และทรัพย์สินนั้นเกิดจากอำนาจอิทธิพลทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่
ใช่ครับ นโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อธุรกิจขนาดยักษ์ ตลอดจนนโยบายด้านภาษีที่เอื้อต่อคนรวย ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น ขณะที่คนจนก็จนลงไปทุกที แม้แต่ค่าแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบัน ยังมีมูลค่าที่แท้จริงลดลงจนต่ำกว่าปี 1960
การปกครองของสหรัฐฯนับวันจะเป็นประชาธิปไตยตามคำนิยามของลินคอล์น น้อยลงแต่เป็นคณาธิปไตย (Oligarchy) มากขึ้น การคอร์รัปชั่นจึงกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สามีของแนนซีเปโลซี อดีตประธานสภาผู้แทน จากพรรคเดโมแครต ถูกพบว่าการลงทุนของเขาเพิ่มขึ้นเกือบ 60% ในช่วงที่ภรรยาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทน
นี่จึงนำมาสู่การเข้าครอบงำการเมืองของสหรัฐฯ ในรูปแบบที่เรียกกันว่า “Deep State” รัฐลึก หรือรัฐบาลเงา อันทรงอิทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ เช่น น้ำมัน การเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมอาวุธ ซึ่งมีการโยงใยกับขบวนการไซออนิสต์ระหว่างประเทศ อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ City of London” ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญของโลก โดยใช้สหรัฐฯเป็นกลไกสำคัญในการเดินเกมส์ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเสียงเรียกร้องต้องการของบรรดาอิลิท นายทุนทั้งหลายจึงได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากสภาทั้ง 2 และรัฐบาล เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีก็จะถูกคัดสรรมาจาก “Deep State” ที่จะส่งตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งทั้ง 2 พรรค การเมืองพร้อมเงินสนับสนุนในการแคมเปญ
ในทางกลับกันเสียงเรียกร้องของประชาชนคนธรรมดาจึงได้รับการตอบสนองน้อยมากจากรัฐบาลและสภา
ยิ่งการเลือกตั้งแพงขึ้นเท่าไร ประชาธิปไตยก็มีราคาถูกลงเท่านั้น
การแก้ปัญหานี้จึงอยู่ที่การตระหนักรู้ของประชาชนที่จะเข้าใจสถานการณ์โดยได้รับการช่วยเหลือให้การศึกษาและข้อมูลจากองค์การที่ไม่แสวงกำไรและมีอุดมการณ์เพียงพอ แม้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่เกินกำลังหากจะร่วมมือกัน
ที่มาของข้อมูล:OpenSecrets,The Federal Election Commission,Washington Post, New York Time and Global Time.