ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(3)
ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(3)
รศ.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ความเจริญและความเสื่อมของสหรัฐอเมริกา (ต่อ)
การเมืองในอเมริกาประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา( Congress ) ที่มีวุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (House of representative) ในประเทศอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค คือเดโมแครต( Democrat)และรีพับริกัน(Republican ) สมาชิกสภา Congress ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนมากสังกัดหนึ่งในสองพรรคนี้ ผู้นำฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็เลือกมาจากผู้สมัครของสองพรรคนี้ ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆมีโอกาสได้รับเลือกน้อยมาก ฝ่ายตุลาการที่สำคัญคือศาล ประกอบด้วยศาลในแต่ละมลรัฐและศาลรัฐบาลกลาง
ในรัฐบาลอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุด เป็นผู้นำฝ่ายบริหารและจอมทัพสหรัฐ มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เอกอัครราชฑูต และข้าราชการประจำที่สำคัญ ข้าราชการตุลาการในส่วนกลาง ก็เสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา แม้มีฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ที่โดยนิตินัยแล้วเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีก็มีอำนาจในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ และนำเสนอกฎหมายในระดับสหพันธรัฐ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการประกาศสงครามกับต่างประเทศ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court of the United States)ด้วยความเห็นชอบจากวุฒิสภา ทั้งยังมีอำนาจในการอภัยโทษ ลดโทษ หรือเปลี่ยนโทษให้แก่ผู้ที่ถูกศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดและต้องถูกลงโทษ
จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีของอเมริกามีอำนาจมาก แม้รัฐสภาจะมีอำนาจในการปฏิเสธหรือคัดค้านกฎหมาย บุคลากร และงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ ทำให้ไม่สามารถออกกฎหมาย ใช้งบประมาณ หรือแต่งตั้งนักการเมืองและข้าราชการที่เสนอได้ แต่สิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากวุฒิสภาและผู้แทนราษฏรมีสมาชิกจากพรรครัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ หากรัฐสภาถูกควบคุมโดยพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลก็มีความยากลำบากในการดำเนินนโยบาย เพราะรัฐสภาอาจไม่เห็นชอบในกฎหมายและบุคคลที่ฝ่ายบริหารเสนอ
แม้ประธานาธิบดีในอเมริกามาจากการเลือกตั้งทั่วไป แต่ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดีหากไม่ชนะคะแนนผู้การเลือกตั้ง( electoral vote ) การเลือกประธานาธิบดีในอเมริกา ประชาชนในแต่ละรัฐจะเลือกผู้เลือกตั้ง(elector)ก่อน แล้วจึงให้ผู้เลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี มลรัฐที่มีคะแนนผู้เลือกตั้งมากกว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะได้คะแนนเสียงผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นทั้งหมด การเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปี 2016 ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นฝ่ายชนะ แม้จะได้คะแนนจากประชาชนทั้งหมดน้อยกว่าคู่แข่ง ทรัมป์มุ่งหาเสียงในมลรัฐที่คะแนนความนิยมของเขากับคู่แข่งมีความสูสีกัน และเมื่อเขาได้คะแนนเสียงผู้เลือกตั้งในรัฐเหล่านี้มากกว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็ได้คะแนนผู้เลือกตั้งทั้งหมดในรัฐนั้น และได้เป็นประธานาธิบดี แม้มีคะแนนประชาชนรวมน้อยกว่า
คนอเมริกันมักกล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกผู้ที่เลวน้อยกว่าจากผู้ชั่วร้ายทั้งสองคน (The lesser of the two evils) ในกรณีของทรัมป์ คนอเมริกันอาจไม่ได้เลือกคนที่เลวน้อยกว่า เพราะเขาได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนทั้งหมดน้อยกว่า แต่การเลือกเขามาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ทั้งที่มีคนจำนวนมากรู้ว่าเขาเป็นคนไม่ดีนั้น ก็แสดงให้เห็นปัญหาระบอบประชาธิปไตยในอเมริกา
การเลือกตั้งในอเมริกาโดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ต้องใช้เงินจำนวนมาก พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ได้การสนับสนุนการเงินมาก มีโอกาสในการได้รับชัยชนะมากกว่า และเมื่อได้รับการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งแล้ว ก็ต้องตอบแทนผู้สนับสนุนเหล่านั้น การเมืองในอเมริกาจึงถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจเงิน บริษัทผลิตและค้าอาวุธยุทธโธปกรณ์ขนาดใหญ่เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง ผู้แทนทั้งสองสภาในรัฐสภาจำนวนมากมักสนับสนุนการสร้างแสนยานุภาพและการทำสงครามในต่างประเทศ ตราบใดที่ศึกสงครามไม่ลุกลามเข้ามาในประเทศ นักการเมืองตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรี จนถึงสมาชิกรัฐสภาส่วนมากสนับสนุนการสร้างแสนยานุภาพ ทำสงครามในต่างประเทศ และแทรกแซงการเมืองในประเทศอื่น หลังการแตกสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดของสงครามเย็น งบประมาณกลาโหมของอเมริกาไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น
นโยบายต่างประเทศของอเมริกามีส่วนสำคัญต่อการเร่งรัดความเสื่อมถอยของประเทศ แม้สถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเสื่อมถอยไปมากแล้ว แต่ทั้งผู้บริหารประเทศและประชาชนในอเมริกาจำนวนมากปรารถนาที่จะเห็นประเทศตนมีความยิ่งใหญ่เหนือประเทศอื่นในโลก พรรคการเมืองสองพรรคใหญ่มีนโยบายและจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ในด้านต่างประเทศ ความแตกต่างดูเหมือนมีไม่มากนัก รัฐบาลและรัฐสภามักมีนโยบายต่างประเทศที่จะให้อเมริกาครองความยิ่งใหญ่ในการเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ยินดีอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างแสนยานุภาพ และแทรกแซงเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศอื่น จึงมีงบประมาณด้านความมั่นคงจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ในปัจจุบัน อเมริกามีฐานทัพหรือฐานปฏิบัติการทหารที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆหลายร้อยแห่ง มีทหารที่อยู่ต่างประเทศรวมหลายแสนคน มีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากอันดับสองของโลกรองจากรัสเซีย แต่เป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์มากที่สุดในโลก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาเป็นผู้นำในการทำสงครามเย็นเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของสหภาพโซเวียต หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัฐสังคมนิยมในภูมิภาคต่างๆของโลก ความจำเป็นในการสกัดกั้นอิทธิพลของประเทศค่ายสังคมนิยมได้ลดไปแล้ว แต่อเมริกาก็ยังคงมีนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของตนที่แข็งกร้าว อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารต่อต้านและแทรกแซงประเทศอื่นอย่างไม่ลดละ ในทางเศรษฐกิจ มีมาตรการที่หลากหลาย ในทางการเมืองและการทหาร มีนโยบายบ่อนทำลายประเทศที่ไม่เป็นมิตรด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การทำสงครามข่าวสาร สร้างข่าวกล่าวร้ายป้ายสี แทรกแซงกิจการภายใน สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ยั่วยุให้ประชาชนกลุ่มต่างๆขึ้นมาชุมนุมประท้วง จนถึงส่งกำลังทหารโจมตีเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรกับอเมริกา แต่สนับสนุนแสนยานุภาพแก่ประเทศที่อเมริกาถือเป็นพันธมิตร ตั้งฐานทัพ ส่งทหารไปประจำการ ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ร่วมซ้อมรบ และตั้งสถานีทดลองเชื้อชีวภาพในประเทศเหล่านั้น
ตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาทำสงครามในต่างประเทศบ่อยครั้ง เช่น สงครามเกาหลี(ค.ศ.1950-1953) และสงครามเวียดนาม(ค.ศ.1964-1975) การทำสงครามทั้งสองครั้งนี้ อเมริกาเป็นผู้นำและได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร แม้ฝ่ายอเมริกามีแสนยานุภาพที่เหนือกว่า แต่ก็ไม่ได้รับชัยชนะ สงครามเกาหลี ตกลงยุติสงครามโดยแยกพื้นที่เกาหลีออกเป็นสองประเทศ สงครามเวียดนาม มีการสู้รบกันเป็นเวลานาน ทหารอเมริกาต้องเสียชีวิตไปจำนวนมาก ในประเทศก็มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านการทำสงคราม จนอเมริกาต้องถอยออกมา และฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถรวมประเทศเป็นปึกแผ่นในเวลาต่อมา
ในปีค.ศ.2001 อเมริกาใช้กำลังทหารเข้าขับไล่รัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถาน และมีทหารประจำการในประเทศนี้ เพื่อต่อต้านกองโจรกลุ่มตาลีบัน แต่ก็ต้องถอนทัพออกมาในปีค.ศ. 2021 ทำให้กลุ่มตาลีบันเข้ามายึดครองอำนาจรัฐในอัพกาได้อีกเมื่อกำลังทหารของอเมริกาและพันธมิตรถอนออกมาเพียงไม่กี่เดือน
ภูมิภาคที่ได้รับการแทรกแซงจากอเมริกา และได้รับผลกระทบหนักคือ ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ความทุกข์ยากและความยุ่งเหยิงของประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก อิหร่าน เยเมน เลบานอน และซีเรีย อเมริกาล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำสงครามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิรักที่นำโดยฮุสเซน(Saddam Hussein) และรัฐบาลลิเบียที่นำโดยกาดดาฟี่ (Muammar Gaddafi)ในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ จนผู้นำประเทศทั้งสองต้องเสียชีวิตลง สองประเทศนี้ต้องประสบความเสียหายมาก ประชาชนได้รับความทุกข์ยากจนถึงปัจจุบัน
ตะวันออกกลางและคาบสมุทรอาหรับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ตั้งแต่วิกฤติกาลราคาน้ำมันในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา รัฐบาลอเมริกามีความสนใจต่อภูมิภาคนี้มาก จนกระทั่งศตวรรษที่ 21 ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาก และมีการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานหรือเชลล์แก๊ส(shale gas)ในอเมริกา ประกอบกับการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน นโยบายต่างประเทศของอเมริกาจึงหันมาให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียมากขึ้น และพยายามสกัดกั้นการพัฒนาของจีนทุกวิถีทาง นอกจากทำสงครามการค้าแล้ว ยังมีสงครามข่าวสาร กล่าวหาจีนละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน สงครามเทคโนโลยี ห้ามส่งออกสินค้าที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เช่นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังท้าทายจีนด้วยการส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาล ส่งเครื่องบินรบเรือรบไปตระเวรในทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรไต้หวัน แสดงเจตจำนงค์ว่าจะอยู่เคียงข้างกับไต้หวัน ขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากได้แก่ไต้หวัน ทั้งที่รู้ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และอเมริกามีแถลงการณ์ร่วมกับจีน รับรองความเป็นหนึ่งเดียวของจีนมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน ทั้งยังกระจายข่าวภัยคุกคามทางแสนยานุภาพของจีน สร้างศักยภาพทางการทหารให้แก่ประเทศพันธมิตร เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อสกัดอิทธิพลของจีน
ในกรณีสงครามยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งของการรุกรานยูเครนของรัสเซียคือ ยูเครนพยายามสมัครเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอ๊ดแลนติกเหนือ(North Atlantic Treaty Organization: NATO หรือนาโต้)ซึ่งเป็นองค์การที่ตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1949 เพื่อต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1991 และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศยุโรปตะวันออก องค์การนาโต้ก็ยังมีอยู่ และขยายขอบเขต รับสมาชิกเพิ่มขึ้นรวมทั้งประเทศในยุโรปยุโรปตะวันออกที่ก่อนหน้านี้เป็นพันธมิตรหรือบริวารของสหภาพโซเวียต นาโต้ยังร่วมรบในตะวันออกกลางแอฟริกาเหนือ และส่งทหารไปอัฟกานิสถานร่วมกับอเมริกาด้วย
รัสเซียเรียกร้องให้ชาวตะวันตกรับประกันว่า จะไม่รับยูเครนซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก แต่ถูกปฏิเสธ จึงส่งกำลังทหารบุกเข้าไปยูเครน อเมริกาและประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกนาโต้ แม้ไม่ยอมสู้รบกับรัสเซียโดยตรง แต่ก็ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนจำนวนมาก อเมริกายังเป็นหัวหอกทำการลงโทษหรือควํ่าบาตรรัสเซียอย่างรุนแรง หวังทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียล้มสลายลง
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกาได้ใช้มาตรการลงโทษหรือควํ่าบาตร(sangtion)ถี่ขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ การคว่ำบาตรรัสเซียในครั้งนี้มีความรุนแรงมาก อเมริกายังชักชวนให้ประเทศอื่นๆทั่วโลกร่วมคว่ำบาตรรัสเซียด้วย ก่อนหน้านี้ จากที่ขาดดุลการค้ามาก อเมริกาได้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆลงโทษประเทศคู่ค้า เช่น ขึ้นภาษีในสินค้านำเข้า จำกัดปริมาณนำเข้า กล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา มีการกำหนดเงินตราต่างประเทศให้มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ละเมิดมนุษยธรรม ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ จึงต้องลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยการทำสงครามการค้า แต่ คว่ำบาตรหรือแซงชั่นมีขอบเขตที่มากกว่าการทำสงครามการค้ามาก
การบังคับใช้กฎหมายของอเมริกา ไม่จำกัดเพียงผู้กระทำความผิดในดินแดนของตน ยังรวมถึงการลงโทษผู้ที่อเมริกาเห็นว่ามีความผิดที่อยู่ในประเทศอื่นๆด้วย ทั้งระดับประเทศ นิติบุคคล และปัจเจกบุคคล ที่เรียกว่า การบังคับใช้กฎหมายในระยะไกล(long-arm jurisdiction) ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมที่กว้างขวาง หน่วยงานรัฐบาล สถานประกอบการและบุคคลในประเทศอื่น หากถูกกล่าวหาว่าขัดกับกฏหมายอเมริกา ก็จะถูกลงโทษหรือแซงชั่น(sanction)โดยเลิกติดต่อทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐ สถานประกอบการ และบุคคลในอเมริกา ไม่ให้บริษัทการเงินทั้งธนาคาร ประกันภัยติดต่อ กู้ยืมเงินหรือทำประกันภัย ห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ในอเมริกา ลดเครคิตโดยบริษัทจัดลำดับเครดิต ยกเลิกการเจรจาการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีการตกลงกันไว้ก่อนหน้านั้น ทั้งยังทำการอายัดหรือยึดทรัพย์ที่อยู่ในอเมริกาหรือที่ควบคุมโดยบริษัทอเมริกา ตัดเขาออกจากระบบสวิฟท์(SWIFT) ซึ่งเป็นระบบการโอนเงิน รับและจ่ายเงินในธนาคารที่มีเครือข่ายที่มีการครอบคลุมทั่วโลก และทำให้ค่าเงินของประเทศนี้อ่อนค่าลงด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกามีสิทธิ์จับกุมและลงโทษผู้บริหารของบริษัทต่างชาติและบุคคลอื่นที่อเมริกาเห็นว่าทำผิดกฎหมาย สถานประกอบการ และบุคคลที่ทำการหรือทำธุรกิจกับประเทศที่ถูกอเมริกาคว่ำบาตร ก็ถือว่าผิดและอาจถูกลงโทษด้วย ดังกรณีการจับกุมนางเมิ่งหวั่นโจว(孟晚舟)ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของบริษัทหัวเหวย(华为) ซึ่งเป็นลูกสาวของประธานบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้ ที่ถูกตำรวจแคนาดาจับกุมในสนามบินเมืองแวนคูเวอร์ในขณะรอเครื่องบินกลับประเทศจีนในปีค.ศ. 2018 ในข้อหาที่หัวเหวยทำธุรกรรมกับประเทศอิหร่านที่ถูกควํ่าบาตรโดยอเมริกา หลังถูกคุมขังในแคนาดากว่าสองปี เมิ่งจึงได้รับปล่อยตัว จากการขาดหลักฐานที่ชัดเจน และรัฐบาลอเมริกายกเลิกข้อเรียกร้องให้แคนาดาส่งนางมารับโทษในอเมริกา
การควํ่บาตรหรือแซงชั่นของอเมริกา สร้างความเสียหายแก่ประเทศ สถานประกอบการ และบุคคลที่ถูกควํ่บาตรมาก และเป็นมาตรการที่ละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศ แม้ถูกประณามจากนานาชาติ แต่อเมริกาก็ยังไม่ยอมเลิกใช้ ทั้งยังทำหนักขึ้นเรื่อยๆ นอกจากทำเอง ยังชักชวนประเทศอื่นทำตามด้วย แต่ประเทศที่ถูกคว่ำบาตรเป็นเวลานาน เช่น คิวบา อิหร่าน ซีเรีย และเวเนสุเอรา ก็ไม่ยอมจำนน การคว่ำบาตรประเทศอัฟกานิสถานโดยการอายัดทรัพย์สินของประเทศนี้ที่มีอยู่ในอเมริกา หลังจากถอนทหารออกมาแล้ว ทำให้คนอัฟกานิสถานจำนวนมากที่ยากจนมากอยู่แล้ว ต้องอดอยากหิวโหย เป็นสิ่งไร้มนุษยธรรมที่ต้องถูกประณามจากคนทั่วโลก แต่อเมริกากลับทำตัวเสมือนหนึ่งเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมของโลก หมั่นกล่าวหาประเทศอื่นในเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยธรรม
หน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอเมริกา คือสำนักข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ(Central Intelligence Agency: CIA) ที่ทำหน้าที่รวบรวมข่าวกรองในต่างประเทศ แต่หน่วยงานนี้มักถูกกล่าวหาในเรื่องการสอดแนมและดักฟังโทรศัพท์ให้แก่รัฐบาลอเมริกา แต่ที่อเมริกาทำแนบเนียนกว่านั้นคือ การใช้องค์กรณ์นอกภาครัฐหรือเอ็นจีโอ(nongovernmental organization:NGO)และสื่อมวลชน ทำการแทรกแซงกิจการภายใน และเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลของประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับอเมริกา หนังสือความลับสุดยอดอเมริกา (Top Secret America)เขียนโดยArkinแบะPriestที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2011 เปิดเผยว่า หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 มีองค์การเอกชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลในอเมริกาผุดขึ้นมา ทั้งที่อยู่ในอเมริกาและกระจายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกจำนวนมาก นอกจากนั้น สื่อมวลชนและองค์การการศึกษาวิจัยในภาคเอกชน ก็ถูกครอบงำหรือแทรกซึมโดยบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตและค้าอาวุธ มีผู้กล่าวว่า แม้องค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาลที่มีสำนักงานใหญ่ในอเมริกาหรือที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ก็อาจมีพฤติกรรมที่มีวาระซ่อนเร้น ทั้งที่เอ็นจีโอมักถูกถือกันว่า เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางและทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ แต่ก็มีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงประเทศอื่นโดยอเมริกา
ในเวลาที่ผ่านมา ในอเมริกา มีข่าวเกี่ยวข้องกับอาวุธชีวภาพเล็ดลอดออกมาเป็นระยะ สถานีทดลองหรือห้องแล็ปชีวภาพ มีทั้งในอเมริกาและที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตรที่ไรับสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกา ห้องปฏิบัติการหรือศูนย์วิจัยชีวภาพนี้ มีวัตถุประสงค์ในการสทดลองอาวุธชีวะเคมี และอาจมีอันตรายจากการหลุดรอดของเชื้อโรคหากเกิดความผิดพลาด ในอเมริกา ก็เคยมีข่าวการปิดห้องปฏิบัติการชีวภาพเป็นครั้งคราว แต่ห้องปฏิบัติการชีวภาพที่ตั้งอยู่ต่างประเทศที่สนับสนุนและควบคุมโดยอเมริกา ถือว่าเป็นความรักที่ไม่พึงเปิดเผย
อาจกล่าวได้ว่า เพื่อคลองสถานภาพการเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่งของโลก อเมริกาทำทุกวิถีทางในการสร้างแสนยานุภาพให้แก่ตนเอง ยุยง บ่อนทำลายประเทศที่เป็นคู่แข่งหรือที่ถือว่าเป็นศัตรู ชักจูงให้ประเทศพันธมิตรร่วมกันทำลายประเทศที่อเมริกาถือว่าเป็นศัตรู บางทีก็ใช้มาตรการที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิเสียชน ยุยงให้ประเทศอื่นเกิดความขัดแย้ง แต่เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นจริง อเมริกาอาจเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ดังกลอุบายจีนที่กล่าวว่า ยุให้คนอื่นตีกัน จุดไฟเผาในอีกฝั่งหนึ่งของแม่นำ้ แล้วเฝ้าดูอยู่เฉยๆ และตักตวงผลประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลประโยชน์ของอเมริกาที่ได้จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะนี้ อาจเป็นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น และอาจสร้างความเสียหายแก่อเมริกาในระยะยาว ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป ในที่นี้ จะสรุปปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการต่างประเทศของอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีความได้เปรียบประเทศอื่นๆในโลกมากมายหลายประการ แต่ต้องเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ จนในที่สุด อาจกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว(failed state)ไป
ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม : โครงสร้างเศรษฐกิจขาดความสมดุลย์ เป็นสังคมผู้บริโภค มีการใช้จ่ายเกินตัว ขาดดุลการการค้ามาก ต้องขยายเพิ่มปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีหนี้สินมาก ความสามารถการแข่งขันของประเทศลดลง อุตสาหกรรมถดถอย สิ่งสาธารณูปโภคเสื่อมโทรม มีประชาชนยากจนเพิ่มขึ้น มีผู้ว่างงาน และผู้ที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยจำนวนมาก ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทรัพย์สินรุนแรง มีความแตกแยกทางสังคม มีปัญหาการเหยียดผิวสีและเชื้อชาติ มีอาชญากรรม มีคนถูกปืนยิงตายและบาดเจ็บจำนวนมาก จริยธรรมของคนในสังคมเสื่อมถอย
ปัญหาการเมืองและการต่างประเทศ : การปกครองประเทศถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ เลือกผู้ที่ไม่มีจริยธรรมเป็นผู้นำประเทศ ระบบการเลือกตั้งมีปัญหา การเมืองถูกอำนาจเงินครอบงำ แทรกแซงการเมืองการปกครองประเทศอื่น ใช้อำนาจที่ขัดกับหลักกฏหมายระหว่างประเทศและขาดความเป็นธรรมลงโทษองค์กรและบุคคลของประเทศอื่น ทำสงครามหรือยั่วยุให้เกิดสงครามในต่างประเทศ ทำให้ประเทศอื่นได้รับความเสียหาย
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความเจริญหลายด้าน แต่ก็ต้องประสบกับความเสื่อมถอย ที่เป็นเช่นนี้ มีสาเหตุอะไร จะมีการกล่าวถึงในตอนต่อไป