กิติมา อมรทัต ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (14)
กิติมา อมรทัต ไร่นาน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (14)
จรัญ มะลูลีม
กิติมา อมรทัตกับผลงานแปลด้านอิสลามศึกษา
การมีภรรยาหลายคนในอิสลาม
การมีภรรยาหลายคนในอิสลาม กิติมา อมรทัต แปลจาก Polygamy in Islam เป็นผลงานของอะบู อามีนะฮ์ บิลาล ฟิลิปส์ และญะมีละฮ์ โจนส์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อิสลามิคอะคาเดมี ราคา 50 บาท หนังสือมีความยาว 68 หน้า ตีพิมพ์ในปี 2539
สิ่งที่ผู้คนรู้จักมุสลิมในวงกว้างคงหนีไม่พ้นทำไมมุสลิมจึงไม่กินหมู ทำไมจึงมีภรรยาได้สี่คน
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันที่พบว่ามีการแต่งงานโดยมีภรรยาคนเดียว แต่แต่งแล้วแต่งอีกหลายครั้งกำลังแพร่หลาย ในขณะที่อิสลามมีความเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์และอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยายได้สี่คน
อย่างไรก็ตาม การมีภรรยาหลายคนนั้นมิใช่การทำตามอำเภอใจ แต่ต้องมีเงื่อนไขบางอย่างและการบิดเบือนการปฏิบัติไปนั้นมิใช่แต่เพียงจะเป็นอันตรายต่อสตรีที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อภาพพจน์ของอิสลามด้วย
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะมีภรรยาหลายคนตามหลักการอิสลามนั้น จะต้องตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ อารมณ์และจิตใจได้เพื่อว่าสังคมจะได้มีความสมดุลในสังคมต่อไปมากกว่าจะสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่จะต้องแก้ไขกันขึ้นมาอีก
ท่านหญิงคอดีญะฮ์ มารดาแห่งเด็กกำพร้า
ท่านหญิงคอดีญะฮ์ – มารดาแห่งเด็กกำพร้า กิติมา อมรทัตแปลจาก Khadijah the Mother of the Orphans ผลงานของอ.ดัสตานี (A.Dastani) จัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูต สาธารณอิสลามแห่งอิหร่านในปี 2537 ความยาว 30 หน้า
เป็นเรื่องราวชีวิตของท่านหญิง คอดีญะฮ์ ผู้บริสุทธิ์และมีศรัทธา ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติอันสูงส่งดีงาม ตลอดชีวิตของพระนางคอดีญะฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์ได้ทรงเลือกและผู้คนในสมัยของพระนางเรียกนางว่าท่านหญิงแห่งเผ่ากุร็อยช์ เป็นคอดีญะฮ์คนที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้กล่าวถึงดังนี้
ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่าไม่มีผู้ใดจักถูกกำหนดไว้สำหรับฉันดีไปกว่าคอดีญะฮ์ เธอเป็นคอดีญะฮ์ผู้รับอิสลามก่อนหญิงใด เป็นคอดีญะฮ์ผู้ได้รับตำแหน่งและเป็นมารดาแห่งเด็กกำพร้าทั้งหลาย
ฮิญาบในอิสลาม
ฮิญาบในอิสลาม กิติมา อมรทัตแปลจากผลงานของนักคิดคนสำคัญของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
มุรตะซา มุเฏาะฮารี เป็นปราชญ์ผู้ทรงความรู้ผู้หนึ่งในเรื่องของอิสลาม ท่านได้รับการฝึกอบรมจากอะละมาอ์ มุฮัมมัด หุซัยน์ เฏาะบาเฏาะบาอี นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงของอิหร่านในปัจจุบัน ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมและการศาสนาของอิหร่าน และเคยดำรงตำแหน่งกรรมการทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยเตหะราน เป็นสถาปนิกวางแผนการปฏิวัติคนหนึ่งในอิหร่าน และหลังจากการปฏิวัติ ท่านได้รับตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
มุรตะซา มุเฏาะฮารีถูกฝ่ายต่อต้านอิสลามลอบสังหารถึงแก่ชีวิตเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 1979 ถึงแม้เรือนร่างของท่านจะถูกแผ่นดินกลบไปแล้ว แต่ผลงานของท่านยังคงยั่งยืนเป็นประโยชน์อยู่นิรันดร์กาล
ฮิญาบในอิสลาม จัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ความยาว 100 หน้า โดยไม่ได้บอกปีที่ตีพิมพ์
ตามพื้นฐานอุดมการณ์แห่งอิสลามนั้น การปกปิดร่างกาย (ฮิญาบ) ของสตรีเป็นหลักการขั้นต้นและสำคัญหลักการหนึ่ง ทัศนะของอิสลามเกี่ยวกับสตรีนั้นค่อนข้างจะแตกต่างจากความคิดของตะวันตก อิสลามถือว่าสตรีก็คือร่างกายครึ่งหนึ่งของสังคมและถือว่าสตรีควรจะมีชีวิตอยู่อย่างมีมาตรฐานและมีคุณค่าของมนุษย์เช่นเดียวกับบุรุษ
อิสลามได้สร้างความสมดุลอันมีเหตุผลและยุติธรรมขึ้นในเรื่องราวเกี่ยวชีวิตส่วนตัวและชีวิตในสังคมของสตรี
ในหนังสือเล่มนี้ได้มีการกล่าวถึงเรื่องฮิญาบในคำบรรยายจำนวนหนึ่งซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะสตรี ได้รับความรู้และทราบทัศนะของอิสลามเกี่ยวกับฮิญาบได้อย่างแจ่มชัด
ดวงตาและดวงใจแห่งท่านศาสดา
เรื่องนี้กิติมา อมรทัต แปลจาก Women in the Eyes and Heart of Muhammad เขียนโดยอะลี ชาริอะตี (Ali Shari ‘Ati) นักเขียนคนสำคัญของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและของโลกมุสลิม จัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในปี 2535
เป็นหนังสือที่กล่าวถึงบุตรสาวที่มีชีวิตอยู่เพียงท่านเดียวของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) นางเป็นที่รักของบิดาและผู้คน โดยนางสมรสกับท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบลูกพี่ลูกน้องของท่านศาสดาเอง ท่านอะลีเป็นหนึ่งในผู้อุทิศตนคนสำคัญให้แก่ศาสนาอิสลามในฐานะลูกพี่ลูกน้องของท่านศาสดา (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) และสมรสกับบุตรสาวแสนรักของท่านศาสดา ฟาฏิมะฮ์บุตรสาวของท่านศาสดาจึงโดดเด่นทั้งในงานทางสังคมและความกตัญญูที่มีต่อบิดาของเธอเอง
ท่านศาสดาก็เหมือนกับชายอื่นทั่วไป ย่อมต้องมีความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะได้มีบุตรบ้างโดยเฉพาะในระยะครึ่งหลังของชีวิตของท่าน ในปีสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านได้บุตรมาคนเดียวคือบุตรชายที่เกิดจากท่านหญิงมารียะฮ์ แต่ทารกน้อยผู้นี้มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานเลย ความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงที่ท่านรู้สึกในเวลาใกล้สิ้นชีพที่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนยิ่งก็คือความปรารถนาอย่างรุนแรงที่จะมีลูก แต่ชะตากรรมก็ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีนามอันยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่ชาวอาหรับซึ่งถือว่าการมีบุตร โดยเฉพาะบุตรชายก็คือเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวงนั้นกลับมีบุตรเหลืออยู่เพียงคนเดียว และก็เป็นบุตรหญิงเสียด้วย แต่นั่นก็เป็นโชคดีอย่างมหาศาล และเป็นที่ปลาบปลื้มปิติยินดีแก่ท่านอย่างยิ่งแล้ว ถึงแม้ว่าท่านจะรู้สึกขมขื่นปวดร้าวอยู่บ้างก็ตามที
อารยธรรมตะวันตกในสายตามุสลิม
กิติมา อมรทัต แปลจาก Western Civilization Through Muslim Eyes เป็นงานเขียนสำคัญของซัยยิด มุจญ์ตาบา รุคนี มูซาวี ลารี (Sayyid Mujtaba Rukni Musavi Lari) จัดพิมพ์โดยสถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 2547 โดยสถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม ความยาว 352 หน้า
ชัยชนะอันมิอาจเทียบเทียมได้ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ทำให้ศตวรรษที่ 20 กลายเป็นศตวรรษแห่งความพินาศอันอาบไปด้วยเลือด ศตวรรษที่ถูกตีตราว่าเป็นยุคแห่งความละโมบ ความแข็งข้อก่อขบถเพราะความทะเยอทะยาน ความรุนแรงและสงครามที่ไร้มนุษยธรรมที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ แค่มองดูระยะ 75 ปีแรกของศตวรรษนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะกล่าวว่าในระยะเวลาอันสั้นนี้ ผู้คนที่เจริญก้าวหน้าของเราได้ก่ออาชญากรรมขึ้นมากกว่าที่เคยก่อในระยะเวลาทั้งสิ้นของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติรวมกันเสียอีก
โลกตะวันตกเป็นเจ้าของเทคนิคต่างๆ ทางอุตสาหกรรมและระเบิดปรมาณู ความรู้ของโลกตะวันตกได้ผลักมนุษย์ให้จมลงไปในโคลนเลนและโลหิต ได้เปลี่ยนแปลงดินแดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อันอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นทะเลทราย เสียงร้องของผู้ถูกกดขี่ลอยขึ้นไปถึงฟากฟ้า คร่ำครวญถึงความอ่อนแอและความสิ้นคิด ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของโลกตะวันตก
กิติมา อมรทัตกับงานเขียนและงานแปลว่าด้วยโลกมุสลิม
บอสเนีย – เฮอร์เซโกวินา แดนมิคสัญญี
ในคำอุทิศที่อยู่ก่อนคำนำของหนังสือเล่มนี้กิติมา อมรทัต เขียนไว้ว่า ส่วนดีของหนังสือเล่มนี้ หากมีผู้เขียนขออุทิศให้แด่ บิดา มารดา ของข้าพเจ้า นายมหะมัด ซาเลย์ และนางวัน อมรทัต ผู้ล่วงลับ อีกทั้งมวลพี่น้องมุสลิมที่เสียชีวิตอันมีค่าไปในการสงครามกลางเมืองครั้งนี้
ในการเรียบเรียงหนังสือ “บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา แดนมิคสัญญี” เล่มนี้ขึ้นมาเพื่อให้โลกได้รู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งความอธรรมลำเอียง ความทุกข์ยากและอยุติธรรมที่พี่น้องมุสลิมได้รับอยู่ในประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินานั้น ผู้เขียนได้ใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมากรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากข่าวคราวประจำวันที่ได้รับจากสถานีวิทยุต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ จากสถานีโทรทัศน์หลายช่องของประเทศไทย จากหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนของไทยและต่างประเทศหลายฉบับ อาทิเช่น นสพ.มติชน เดลินิวส์ สยามรัฐ , The Nation , Bangkok Post , Muslim Herald จากฮ่องกง Tehan times , Kayhan International , Echo of Islam , Mahjubah จากอิหร่าน ทางนำ , Muslimedea , , Times , Newsweek และ Asia Week โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ “สงครามที่ไร้มนุษยธรรมในบอสเนีย” ที่ได้ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งแก่ผู้เขียน หากปราศจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ งานชิ้นนี้คงไม่อาจสำเร็จได้
ผู้เขียนจึงขอแสดงความขอบคุณต่อสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์หนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ เหล่านี้ไว้เป็นอย่างสูง
เนื่องจากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินายังไม่ยุติลง ถึงแม้ว่าจะได้ดำเนินมาถึงสองปีแล้วก็ตาม (เป็นช่วงเวลาที่กิติมา อมรทัต เขียนเรื่องนี้) ผู้เขียนซึ่งตั้งใจทำงานชิ้นนี้ให้สมบูรณ์ที่สุดจึงไม่อาจทำให้ครบถ้วนตามประสงค์ เนื่องด้วยเวลาผ่านมานานพอควรและหนังสือก็เพิ่มความหนาขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องตัดใจจบการเขียนเรื่องนี้ลงเพียงเท่านี้ก่อนด้วยความเสียดาย
ผลสุดท้ายของสงครามจะเป็นอย่างไร ดูออกจะสลดหดหู่เกินกว่าจะคิดต่อไป ถึงอย่างไรผู้เขียนก็ขอตั้งปณิธานไว้ว่า “ขอให้ฝ่ายธรรมะมีชัยต่อฝ่ายอธรรม ถึงแม้ว่าฝ่ายอธรรมจะมีพลังอำนาจมีอาวุธมีผู้สนับสนุนเพียงไรก็ตาม” เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2537 โดยอิสลามิคอะคาเดมี ราคา 250 บาท ความยาว 516 หน้า