ถ้ามีเวลาโกรธ ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติธรรม
ถ้ามีเวลาโกรธ ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติธรรม
พระไพศาล วิสาโล
จิตถ้าไม่ฝึกจะกลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของเรา เพราะว่าหนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น ศัตรูที่เป็นคนข้างนอก เรายังพอมีโอกาสหนีได้บ้าง หาคนมาคุ้มกันได้บ้าง แต่ถ้าศัตรูอยู่ในใจเรา ไม่มีทางที่เราจะหนีพ้น ไม่ว่ายามหลับหรือยามตื่น เพราะฉะนั้น การฝึกจิต โดยเฉพาะการเจริญสติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต หลายคนก็รู้ มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ แต่พอกลับไปแล้วเจอสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เจอภารกิจการงานในครอบครัว ในที่ทำงาน รวมทั้งสิ่งเย้ายวนใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชวนให้หลงใหล สุดท้ายหลายคนก็จะบอกว่า ไม่มีเวลาปฏิบัติ
บ่อยครั้งคำว่า “ไม่มีเวลาปฏิบัติ” เป็นข้ออ้างของกิเกส เราเคยถามตัวเราเองบ้างไหมว่า ในเมื่อไม่มีเวลาปฏิบัติ แต่ทำไมมีเวลาโกรธ ไม่ได้โกรธเป็นชั่วโมงนะ โกรธเป็นวัน ๆ บางทีเป็นอาทิตย์ ทำไมมีเวลาเศร้า มีเวลาเครียด มีเวลาวิตก ทำไมเรามีเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่มันบั่นทอนจิตใจ แต่ว่าสิ่งดี ๆ ที่ทำแล้วจะกอบกู้ชีวิตจิตใจเรา กลับบอกว่าไม่มีเวลา
น่าแปลกที่เราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาไปหาพ่อแม่ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่มีเวลาเศร้า มีเวลาเครียด มีเวลาวิตกกังวล จมปลักเป็นชั่วโมง เป็นวัน เกิดอะไรขึ้น บางคนรู้ว่าต้องปฏิบัติ แต่ว่าเขาก็มีอะไรต่ออะไรมากมายที่ต้องทำ ก็ต้องถามตัวเราเองว่า สิ่งที่ทำมันเป็นสิ่งที่สำคัญหรือไม่ บางอย่างไม่สำคัญ แต่ว่าเป็นการเพิ่มรสชาติสีสันให้กับชีวิต เช่น ไปชอปปิ้ง เล่น Line เล่น Facebook หลายคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ แต่มีเวลาเล่น Line เล่น Facebook มีเวลาเที่ยวห้าง มีเวลาดูละคร อาทิตย์หนึ่งก็หลายสิบชั่วโมง ถ้ารวมเล่นอินเทอร์เน็ตก็เป็นร้อยชั่วโมง อันนี้เป็นเพราะจัดลำดับความสำคัญผิดพลาด สิ่งที่ไม่สำคัญเลยกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมา
ที่จริงการปฏิบัตินั้น เราไม่ได้ใช้เวลามาก คนที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ขอถามว่ามีเวลาอาบน้ำ ถูฟันไหม มีเวลากินข้าวหรือเปล่า มีเวลาแต่งตัวไหม ถ้ามีเวลาทำสิ่งเหล่านี้ ก็แสดงว่ามีเวลาปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติไม่ได้แยกขาดจากกิจกรรมเหล่านี้เลย เวลาเราอาบน้ำ เราก็ปฏิบัติได้ เวลาเราถูฟัน เราก็ปฏิบัติได้ กินข้าวก็ปฏิบัติได้ ล้างจานก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างมีสติ ทำกิจเหล่านี้ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ปล่อยใจลอย แค่ทำทีละอย่างในชีวิตประจำวันก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว
เวลาอาบน้ำ ใจก็อยู่กับการอาบน้ำ ไม่ใช่อาบน้ำแค่กาย แต่ใจคิดถึงงานการ คิดว่าจะทำอะไรให้ลูกกินเช้านี้ คิดว่าประชุมเช้านี้เราจะพูดอย่างไรดี อันนี้ถือว่าเราทำ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน ผลที่ตามมาก็คือใจลอย ใจฟุ้ง แต่ถ้าทำทีละอย่าง กินข้าว ใจก็อยู่กับการกินข้าว อาบน้ำ ใจก็อยู่กับการอาบน้ำ ถูฟัน ใจก็อยู่กับการถูฟัน ก็ถือว่าปฏิบัติแล้ว เป็นการเจริญสติไปในตัว
การเจริญสติก็คือ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ตัวอยู่นี่ ใจก็อยู่นี่ ตัวอาบน้ำ ใจก็รับรู้ว่ากำลังอาบน้ำ ซึ่งเป็นผลดีด้วย ทำให้จิตใจพลอยได้รับความสดชื่น เวลาอาบน้ำ ล้างหน้า ถ้าใจอยู่กับกาย ใจจะรับรู้ถึงความสดชื่นขณะที่น้ำสัมผัสกาย เป็นการเติมความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับชีวิตของเรา แต่ถ้าเวลาอาบน้ำ ล้างหน้า ใจกลับลอยไปคิดเรื่องอื่น นอกจากจะไม่ได้รับรู้ความสดชื่นแล้ว ยังเกิดความเครียด เกิดความวิตกตามมาด้วย อันนี้เรียกว่า ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม คือความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่นหรือเอาเปรียบใคร แค่อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ก็มีความสุขเกิดขึ้นให้ใจเรารับรู้ได้ ไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหนหรอก ความสุขหาได้ง่ายจากชีวิตประจำวัน เหมือนกับความงดงามของธรรมชาติที่จรรโลงใจ มันมีอยู่รอบตัว อย่างเมื่อวานนี้ที่พวกเราทำกิจกรรมจัดดอกไม้ จัดใจ เราก็พบว่าความงามนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง กิ่งไม้แห้ง ใบไม้ที่ถูกหนอนกัดเป็นรู มันก็มีความสวยงาม อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือมองเป็นไหม ความงามของธรรมชาติมีให้เห็นตลอดเวลา ไม่ต้องไปมองหาแถวอุทยานแห่งชาติ มันมีอยู่รอบตัว รอบบ้าน รอบโรงเรียน ความสุขก็เหมือนกัน เราสามารถรับรู้ได้ ถ้าใจเราเปิดรับ ใจเราเปิดรับได้เพราะใจเรามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ลอย ไม่ฟุ้ง
ถ้าเราทำอะไรก็ตามด้วยใจที่มีสติ วางความคิดต่าง ๆ ลง รับรู้ว่ากายทำอะไร เรียกว่ารู้กาย รับรู้ความสุขที่เกิดขึ้น เรียกว่ารู้เวทนา รู้แต่ไม่ยึด รู้แต่ไม่ติด เวลามีความเจ็บปวดที่กาย เราก็รู้ แต่ก็ไม่ยึดไม่ติด วางมันลงได้ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน จะไม่มีคำพูดว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ถ้ามีเวลาสอนหนังสือ มีเวลาทำงาน นั่นแหละคือเวลาที่เราสามารถปฏิบัติได้ ไม่ใช่ว่าต้องปฏิบัติในรูปแบบ แต่เป็นการปฏิบัติที่กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน หรือปฏิบัติขณะทำงาน อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น ถามใจเราดู ทุกครั้งที่คิดว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ถามว่า ๑. ทำไมเรามีเวลาโกรธ ทำไมเรามีเวลาเครียด ทำไมเรามีเวลาเศร้า ๒. เรามีเวลาอาบน้ำ เรามีเวลาถูฟัน เรามีเวลาล้างหน้า หรือเปล่า ถ้ามีเวลาทำสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม
ที่มา: http://www.visalo.org/article/komol6103.html