สุรชาติ บำรุงสุข : สนามรบที่สนามศุภฯ! เมื่อทหารเป็นตัวตลกของเด็กๆ
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2561
คอลัมน์ ยุทธบทความ
ผู้เขียน สุรชาติ บำรุงสุข
เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2561
“ตอนแรกหุ่นจะมีลักษณะอีกแบบ แต่ภายหลังมีการเซ็นเซอร์ตั้งแต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยลงมาถึง อบจ. [องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] เราในฐานะผู้ปฏิบัติการต้องทำตามคำสั่ง ในการพิจารณามีทหารเข้ามานั่งสอบถามเพื่อพิจารณาเนื้อหาร่วมกับผู้บริหารและอาจารย์ด้วย ทหารไม่ได้กดดันอะไรเรา แค่บอกเราว่าห้ามพูดเรื่องอะไรเท่านั้น
คำสัมภาษณ์ทีมงานขบวนนิสิตจุฬาฯ
มติชนออนไลน์, 3 กุมภาพันธ์ 2561
คงต้องยอมรับกันว่า หนึ่งในเทศกาลล้อการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสังคมไทยก็คืองานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
และยิ่งในช่วงการเมืองไทยไม่อยู่ในภาวะปกติ เป็นระบบการปกครองของรัฐบาลทหารแล้ว ดูเหมือนงานฟุตบอลประเพณีจะไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันฟุตบอล
แต่กลับกลายเป็นเรื่องว่า ปีนี้ขบวนพาเหรดล้อการเมืองจะออกมาในรูปแบบใด…
พาเหรดดูจะสนุกกว่าฟุตบอลในการเมืองที่มีทหารเป็นผู้ปกครอง
และขณะเดียวกัน สื่อและผู้คนในสังคมก็ดูจะสนใจการล้อการเมืองมากกว่าใครชนะในการแข่งขัน
ผู้นำทหารปัจจุบันอาจจะ “เซ็นซิทีฟ” กับการจัดกิจกรรมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาในงานฟุตบอลประเพณี
แต่หากย้อนกลับไปดูในอดีตจะพบว่ารัฐบาลทหารแต่เดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมเช่นนี้มากนัก
และทั้งกิจกรรมเช่นนี้ยังอาจจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานแบบ “สายลมแสงแดด” ของนิสิตนักศึกษา
แม้จะมีเรื่องราวของการล้อการเมืองอยู่บ้าง แต่ผู้นำทหารก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมหรือตรวจสอบแต่อย่างใด
อาจเป็นเพราะในโลกการเมืองไทย ผู้นำทหารยุคปัจจุบันมีประเด็นที่ทำให้กิจกรรมล้อการเมืองสามารถนำมาใช้ในงานฟุตบอลประเพณีอยู่หลายเรื่อง
และในหลายเรื่องเช่นนี้ก็ล้วนแต่ทำให้ผู้นำทหารกลายเป็น “ตัวตลก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนนำไปสู่การแทรกแซง
ยุทธการสนามศุภฯ
ในยุครัฐบาล คสช. มีท่าทีแตกต่างออกไป การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ กลายเป็นงานที่รัฐบาลทหารต้องส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง จนถึงกับมีการ “เซ็นเซอร์” สาระของขบวนพาเหรด
จนเป็นเรื่องที่แทบไม่น่าเชื่อว่า รัฐบาลทหารของไทยต้องเข้ามาเซ็นเซอร์กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
ความพยายามเช่นนี้เกิดขึ้นจนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป
จนอยากจะเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า “ยุทธการสนามศุภฯ” (กองทัพไทยมักจะตั้งชื่อยุทธการจากพื้นที่การรบ)
เช่น กรณีการให้กำลังพลทหารไปซื้อเสื้อฟุตบอลประเพณีมาใส่ แต่ก็ยังใส่แจ๊กเก็ตสีดำคลุมทับ
ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าไม่มีนิสิตนักศึกษาคนไทยใส่แจ๊กเก็ตในงานเช่นนี้ เพราะพวกเขาอยากโชว์เสื้อของมหาวิทยาลัยตน… ทุกคนอยากอวดเสื้อฟุตบอล และก็ไม่ใช่บุคลิกของนิสิตนักศึกษาที่จะมาใส่แจ๊กเก็ตสีดำเหมือนพวกสายสืบของตำรวจ หรือพวกทหารนอกเครื่องแบบ หรือจะมีมิจฉาชีพปลอมแปลงเข้ามาหรือไม่
นอกจากนี้ ความสนุกสนานที่พวกนิสิตนักศึกษาถ่ายรูปและโพสต์กันก็คือ บรรดานิสิตนักศึกษาปลอมเหล่านี้ไว้ผม “เกรียน” ทรงเดียวกันหมด
ใครก็รู้ว่านี่คือ “ทรงทหาร” เพราะนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในกรณีของคนที่ไม่ได้เรียน รด. แล้ว เป็นที่รู้กันว่าไม่มีใครไว้ผมสั้นทรงทหาร หรือที่บางทีเรียกกันว่า “ทรง รด.”
อย่างนี้แล้วจะทำให้พวกนิสิตนักศึกษามองบรรดากำลังพลนอกเครื่องแบบ แต่ใส่เสื้อเชียร์พร้อมแจ๊กเก็ตดำด้วยความขบขันได้อย่างไร
สำหรับตำรวจแล้ว การเข้ามาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ดี เพราะในกรณีที่มีการรวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมากในโลกสมัยใหม่นั้น เป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากภัยและปัญหาต่างๆ
แม้ว่าจะมีการนำเอากำลังตำรวจเข้ามาร่วมปฏิบัติการก็คงเป็นเรื่องปกติในสภาวะเช่นนี้
แต่ก็เชื่อว่าในฐานะของสโมสรนิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ก็คงอยากเห็นความชัดเจน เพราะเนื่องจากการเข้ามาของทหารนอกเครื่องแบบแล้ว ตำรวจในฐานะกำลังพลหลักที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ควรใส่เครื่องแบบเพื่อแสดงตัวให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้จัดงานเกิดความอบอุ่นใจถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
และขณะเดียวกันก็เพื่อลดความหวาดระแวงของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ไม่มีทางจะรู้ว่าใครคือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารนอกเครื่องแบบ
ยุทธการมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาล คสช. ขึ้นสู่อำนาจนั้น เป็นที่รับรู้กันอย่างมากถึงการขยายบทบาทของทหารในการเข้าควบคุมและดูแลมหาวิทยาลัย
แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีผู้บัญชาการหน่วยรบในพื้นที่เป็นผู้ดูแล รวมถึงการใช้กำลังพลของหน่วยเข้ามารับตัวอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยไป “พูดคุย” (สำนวนสุภาพคือ “ไปทานกาแฟ” ที่ค่ายทหาร)
หรือตรงไปตรงมามากกว่านั้นในบางกรณีก็คือ การมารับตัวไป “ปรับทัศนคติ” เป็นต้น
แทบไม่น่าเชื่อว่าหน่วยกำลังรบของกองทัพบกไทยมี “ภารกิจหลัก” ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่การต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หน่วยรบในกรุงเทพฯ มีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามพฤติกรรมของผู้เห็นต่างจากภาคส่วนต่างๆ และมีหน้าที่โดยตรงอย่างสำคัญในการ “สอดส่อง” และ “ตรวจสอบ” การจัดกิจกรรมของอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
จึงอยากจะขอเรียกภารกิจนี้ว่า “ยุทธการมหาวิทยาลัย” (ตามลักษณะของพื้นที่ปฏิบัติการ) กล่าวในวิชาทหารก็คือ มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็น “พื้นที่ปฏิบัติการ หรือ AO” (Area of Operation) ของหน่วยรบในกรุงเทพฯ
บทบาทของหน่วยกำลังรบไม่ได้เข้ามาควบคุมและแทรกแซงกิจกรรมในมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อตรวจสอบว่าอาจารย์ท่านใดมีพฤติกรรมที่ทหารอาจไม่พอใจ ก็อาจจะมีนายทหารระดับพันโทมายังคณะ และพาตัวไป “พูดคุย”… สถานการณ์อย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐประหารครั้งก่อนๆ แต่พอตกเย็นก็มีนายทหารระดับพลเอกโทรมาขอโทษว่า ไม่ได้สั่งให้ “ทหารเด็กๆ” มาแสดงพฤติกรรมคุกคามเช่นนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ผู้นำในกองทัพบกอาจจะไม่ทราบถึงพฤติกรรม “คุกคามเสรีภาพ” ในมหาวิทยาลัย เพราะไม่ใช่ “เนื้อแท้” ของ คสช. ที่เข้าร่วมการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนตั้งแต่ต้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพพจน์ของนายทหารบกไทยกลายเป็นเพียง “ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน” หรือไม่ก็เป็น “ผู้คุกคามสิทธิเสรีภาพ”
คงต้องยอมรับว่ารัฐประหาร 2557 ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้กำลังของกองทัพอย่างกว้างขวางในภารกิจทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพบกไทยตกต่ำลงอย่างมาก
และภารกิจเช่นนี้ตอกย้ำถึงความ “ไม่เป็นทหารอาชีพ” ของทหาร
แม้กระทั่งครั้งหนึ่งในการให้นิสิตปริญญาเอกแถลงถึงความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของตน ซึ่งต้องทำเป็นเวทีสาธารณะ
ในครั้งนั้นก็มีกำลังจากทหาร (ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าคงมาจากกองทัพบก) มาขอถ่ายรูปและนั่งฟังการรายงานความก้าวหน้าของนิสิต
แม้กำลังพลทหารที่มาจะลดความตึงเครียดด้วยการแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ว่าจะมาขอถ่ายรูปและขอทำบันทึกการประชุม แต่ก็ไม่ได้แจ้งแก่อาจารย์ผู้จัด
ที่สำคัญก็คือ การทำภารกิจเช่นนี้กลายเป็นการทำลาย “ภาพลักษณ์” ของทหารได้อย่างดี
และขณะเดียวกันก็กลายเป็นเรื่องขบขันของบรรดานิสิตปริญญาเอกเป็นอย่างยิ่ง
จนมีคำถามว่าแล้วทหารที่มาร่วมฟังจะเขียนรายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของพวกเขาเสนอผู้บังคับบัญชาอย่างไร หรือการเปิดเวทีสัมมนาในมหาวิทยาลัย ก็จะมีทหารร่วมฟังจนเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ในทุกพื้นที่
ประเด็นเช่นนี้ ด้านหนึ่งก็กลายเป็น “เรื่องสนุกๆ” จากห้องสัมมนาปริญญาเอกในยุค คสช.
แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนชัดเจนถึงความคิดของผู้นำทหารที่เชื่อว่า กองทัพสามารถควบคุมมหาวิทยาลัยได้… ควบคุมนิสิตนักศึกษาได้
และการปรากฏตัวของทหารในมหาวิทยาลัยอาจจะมีพื้นความเชื่อแบบพื้นๆ ว่าการทำเช่นนี้อาจจะทำให้อาจารย์และบรรดานิสิตนักศึกษากลัว ขณะเดียวกัน การใช้กำลังพลทหารเข้ามาในมหาวิทยาลัยก็เป็น “การข่มขู่คุกคาม” ในตัวเองว่า ทหารมีอำนาจเหนือมหาวิทยาลัย หรือเชื่อด้วยแนวคิดของอำนาจกำลังรบแบบง่ายๆ เอาเองว่า “ปืนคุมปัญญาชน” ได้
ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจจะมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วนกลัวและยอมจำนนกับการคุกคามของทหาร
แต่ในความเป็นจริงแล้วการกระทำดังกล่าวกลับเป็นการ “สะสม” ความไม่พอใจทหารให้เกิดมากขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย
ผู้นำทหารที่มีอำนาจการเมืองในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ “นักรบ” ที่ผ่านสนามรบอย่างจริงจัง เท่าๆ กับที่พวกเขาไม่เคย “เรียนรู้” บทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวิกฤตพฤษภาคม 2535
อีกทั้งไม่เคย “ตระหนักรู้” กับสถานการณ์สงครามภายในของรัฐไทยหลังการล้อมปราบใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกือบนำพาประเทศเข้าสู่ “สงครามกลางเมือง” มาแล้ว…
ผู้นำทหารปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยรู้สึกกับปัจจัยการเมืองเช่นนี้
อำนาจปืน?
ถ้าผู้มีอำนาจในปัจจุบันเชื่อว่า ปืนคุมคนได้ทุกอย่าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปืนกดคนรุ่นใหม่ให้ยอมจำนนได้แล้ว ก็อาจจะต้องคิดใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ผู้นำทหารจะต้องเรียนรู้อย่างมากก็คือความเปลี่ยนแปลงในเจเนอเรชั่นของคนรุ่นใหม่ๆ ในแต่ละส่วน อาจเป็นว่าผู้นำทหารเหล่านี้มีลูกโตมากจนไม่ตระหนักว่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีความคิดที่แตกต่างจากผู้นำที่เป็น “คนรุ่นเก่า” อย่างมาก
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองจะมองผู้นำทหาร “หัวเก่า” ด้วยความรู้สึกขบขันมากกว่ากลัว
และล้าหลังเกินไปที่จะเป็นผู้นำประเทศในสภาพที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบๆ ตัวในมิติต่างๆ ไปสู่อนาคต
ฉะนั้น เมื่อขบวนพาเหรดถูก “เซ็นเซอร์” หรือถูก “แทรกแซง” พวกเขาก็มีวิธีจัดการกับปัญหา จนความพยายามของกำลังพลที่ส่งมาจัดการกลายเป็น “ตัวตลก” สำหรับเด็กๆ ไปเลย
เช่น พวกเขาเขียนข้อความกันในสนามเมื่อพ้นจากการตรวจแล้ว เป็นต้น
สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าใน “สนามรบที่สนามศุภฯ” นั้น กำลังพลทหารที่ถูกส่งมาปฏิบัติการใน “ยุทธการสนามศุภฯ” ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลย
ซ้ำร้ายกลับเป็นผลลบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างมาก โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของกองทัพบกและรัฐบาลทหารในสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ การตัดสินใจขยายบทบาทของทหารในการควบคุมมหาวิทยาลัยเช่นนี้ ในด้านหนึ่งสะท้อนถึง “ความกลัว” ว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาจะรวมตัวจนกลายเป็นพลังต่อต้านทหาร
แต่ดูเหมือนผู้นำรัฐบาลทหารจะไม่ตระหนักว่า การกระทำเช่นกรณีที่ทหารพยายามจะเซ็นเซอร์ข้อความในงานฟุตบอลประเพณีเช่นนี้จะกลายเป็น “แรงกระตุ้น” ให้นิสิตนักศึกษาในหลายๆ ส่วนต้องสนใจการเมือง และเริ่มมองรัฐบาลทหารและกองทัพด้วยความรู้สึกเชิงลบมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำสัมภาษณ์ของนิสิตจุฬาฯ ที่บอกถึงการที่ทหารเข้ามานั่งพิจารณาเนื้อหาร่วมกับผู้บริหารจุฬาฯ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก
และทหารที่เข้าร่วมประชุมยังบอกด้วยว่าห้ามพูดเรื่องอะไร
แทบไม่น่าเชื่อว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยในศตวรรษที่ 21 จะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
และน่าคิดว่าถ้าประเด็นการแทรกแซงของทหารที่เกิดขึ้นในกิจการของมหาวิทยาลัยถูกเผยแพร่ในเวทีต่างประเทศแล้ว ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยไทยจะเป็นเช่นไร
และถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลกับ “ตัวชี้วัด” ในเวทีสากล เราเคยคิดหรือไม่ว่าปัจจัยเช่นนี้จะกระทบต่อการจัดลำดับหรือไม่
หรือเราเชื่อว่าฝรั่งที่ตรวจสอบเรื่องนี้จะไม่รู้เรื่อง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่เคยใส่ใจอย่างจริงจังกับประเด็นเรื่อง “เสรีภาพทางวิชาการ” หรือ “เสรีภาพในการแสดงออก” ของนิสิต และเชื่อว่าปัจจัยเรื่องเสรีภาพไม่ใช่ประเด็นหลักของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเวทีสากล
วันนี้ ถ้าต้องทบทวนแล้วก็คงเห็นชัดว่าจาก “ยุทธการมหาวิทยาลัย” จนถึง “ยุทธการสนามศุภฯ” ล้วนสะท้อนถึงภาพลบของทหารอย่างหลีกเลี่ยงมาได้
แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ บางครั้งภาพเช่นนี้กลับกลายเป็นเรื่องตลกขบขันสำหรับนิสิตนักศึกษา การใช้กำลังในยุทธการเช่นนี้อาจจะต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า “ภารกิจไม่ประสบความสำเร็จ”…
น่าจะต้องถึงเวลาแล้วที่จะต้องสั่งถอนกำลังรบจาก “สมรภูมิมหาวิทยาลัย”
กลับสู่ “ภารกิจหลัก” ของทหาร เพื่อความมั่นคงของกองทัพ!
ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_85509