jos55 instaslot88 Pusat Togel Online รำลึกถึงคุณหมอประสาน ต่างใจ - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

รำลึกถึงคุณหมอประสาน ต่างใจ

รำลึกถึงคุณหมอประสาน ต่างใจ

พระไพศาล วิสาโล
๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๑

เมื่อปี ๒๕๑๙ ตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปีหนึ่ง มูลนิธิโกมลคีมทองได้พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “คู่มือการดูแลรักษาสุขภาพสำหรับประชาชน” มีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์อย่างดี กระดาษปอนด์ ภาพประกอบมากมาย หนาร่วม ๓๐๐ หน้า ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ขายดีมาก พิมพ์ซ้ำหลายครั้งต่อเนื่องนานหลายปี นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นชื่อนายแพทย์ประสาน ต่างใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะนักเขียน

หนังสือเล่มนี้มีกำเนิดมาจากความคิดที่ว่า การดูแลรักษาสุขภาพไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหมอเท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องของคนทั่วไป การที่หนังสือเล่มนี้ขายดี แสดงว่าคนทั่วไปให้การยอมรับความคิดดังกล่าว คงเพราะเหตุนี้ สามปีต่อมานิตยสาร “หมอชาวบ้าน” จึงเกิดขึ้นและวางแผนต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้

ข้าพเจ้าคุ้นชื่อคุณหมอประสาน จากนิตยสารดังกล่าว เพราะมีบทความของท่านออกมาเป็นระยะ ๆ แต่หลังจากที่ได้อุปสมบท ก็ไม่ค่อยได้ติดตามอ่านนิตยสารดังกล่าว ผ่านไปอีกหลายปีก็ได้อ่านบทความของท่านอีก แต่คราวนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องแนวคิดใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากวิทยาศาสตร์กระแสหลัก กล่าวคือไม่ได้มองสิ่งต่าง ๆ อยากแยกส่วนเหมือนกลไกหรือเครื่องจักร แต่มองอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งทุกส่วนล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และก่อให้เกิดคุณภาพใหม่ที่ไม่มีในส่วนย่อย ๆ

วิทยาศาสตร์ใหม่ดังกล่าวเริ่มแพร่หลายในเมืองไทยจากหนังสือของฟริตจ๊อฟ คาปร้า นั่นคือ “เต๋าแห่งฟิสิกส์” (The Tao of Physics) ตามมาด้วย “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” (The Turning Point) คุณหมอประสานได้นำผลงานของนักคิดนักเขียนคนอื่น ๆ นำมาเผยแพร่ในบทความของท่านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลายคนรออ่านข้อเขียนของท่านทุกวันอาทิตย์จากหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” และเชื่อว่าหลายคนเช่นกันได้ยินคำว่า ทฤษฎีควอนตัม หรือ ควอนตัมฟิสิกส์ เป็นครั้งแรกจากบทความของคุณหมอประสาน เป็นจุดเริ่มต้นให้ขวนขวายศึกษาแนวคิดนี้และขยายไปสู่แนวคิดอื่น ซึ่งทำให้เห็นโลกและชีวิตแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ แทนที่จะเห็นโลกในเชิงทวิภาวะ หรือมองเป็นขั้วที่แยกจากกัน เช่น สสาร-พลังงาน มนุษย์-ธรรมชาติ เรา-เขา ก็เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีควอนตัมชี้ให้เห็นว่า ผู้สังเกตกับ สิ่งที่ถูกสังเกต ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีอิทธิพลต่อกัน มุมมองของผู้สังเกต ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของสิ่งที่ถูกสังเกตด้วย

วิทยาศาสตร์ใหม่ที่คุณหมอประสานนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นถึงความมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “จิต” ใครที่ได้อ่านบทความของคุณหมอประสานเป็นประจำ จะตระหนักว่า วิทยาศาสตร์ หรือ จิตวิญญาณ (spirituality) หรือสภาวะทางศาสนา ไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกัน แท้จริงกลับเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับคุณหมอประสาน เส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์กับแนวคิดด้านจิตวิญญาณ หรือวัตถุกับจิต หามีไม่ ทัศนะดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักคงรับได้ยาก แต่คุณหมอประสานมีความมั่นอกมั่นใจในเรื่องนี้มาก

ข้าพเจ้ามีโอกาสพบกับคุณหมอประสานอย่างต่อเนื่องเมื่อได้ร่วมกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งเกิดจากการริเริ่มของคุณหมอประเวศ วะสี เมื่อปี ๒๕๔๖ ทุกเดือนที่มีการพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนกัน คุณหมอประสานเป็นสมาชิกผู้หนึ่งที่มาเป็นประจำ และทุกครั้งท่านจะร่วมแสดงความเห็นอย่างกระตือรือร้นและมีพลัง ท่านสามารถคุยได้นาน ๆ โดยไม่รู้จักเหนื่อยทั้ง ๆ ที่สูงวัยกว่าใครในที่นั้น ๆ แม้จะเจอความเห็นต่างหรือข้อโต้แย้งแรง ๆ ท่านก็รับฟังโดยไม่มีอาการหงุดหงิดหรือหัวเสีย กล่าวได้ว่าท่านมีอารมณ์ดีโดยตลอด อีกทั้งมีอารมณ์ขันอยู่มากด้วย

อย่างไรก็ตามหลังจากเข้าร่วมสนทนากับกลุ่มจิตวิวัฒน์ต่อเนื่องหลายปี ข้าพเจ้าก็มีกิจธุระมากขึ้น จึงขาดหายไปบ่อยครั้ง เข้าใจว่าสมาชิกหลายท่านก็มีปัญหาเดียวกับอาตมา ในที่สุดการสนทนาประจำเดือนซึ่งทำต่อเนื่องมานับสิบปีก็ยุติลง นับแต่นั้นข้าพเจ้าไม่ได้พบคุณหมอประสานอีกเลย ได้ข่าวเกี่ยวกับท่านบ้างเป็นครั้งคราว จนกระทั่งได้ทราบว่าท่านจากไปเมื่อปลายเดือนเมษายน

ทุกวันนี้มีผู้คนมากมายที่ไม่รู้ว่าคุณหมอประสานมีผลงานด้านการแพทย์อย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่ามีหลายคนที่จดจำได้ว่าบุคคลผู้หนึ่งที่ทำให้เขามองวิทยาศาสตร์หรือมิติด้านจิตวิญญาณแตกต่างไปจากเดิมคือคุณหมอประสานนั่นเอง

ที่มา: http://www.visalo.org/article/person45Prasan.html

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *