Honda Effect ของ Richard Pascale
Henry Mintzberg นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ คานาดา ได้ช่วยให้เรามีมุมมองกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นว่ากลยุทธ์ที่แท้จริงคืออะไร กลยุทธ์ที่เป็นจริงของบริษัทจะเป็นผลผลิตจากกลยุทธ์ที่วางแผน และกลยุทธ์ที่ไม่ได้วางแผนหรือปรากฏขึ้น กลยุทธ์ที่มุ่งมั่น(Intended Strategy) จะเกิดขึ้นจากการวางแผนกลยุทธ์อย่างมีเหตุผล และเป็นทางการโดยผู้บริหารระดับสูง กลยุทธ์ที่ปรากฏขึ้น(Emergent Strategy) จะเป็นการตอบสนองที่ไม่ได้วางแผนไว้ต่อสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคะเนไว้ Henry Mintzberg ได้กล่าวว่ามุมมองสมัยเดิมของกลยุทธ์จะมุ่งที่กลยุทธ์ที่วางแผนไว้เท่านั้น เขายืนยันว่า 10% ถึง 30% ของกลยุทธ์ที่วางแผนไว้เท่านั้นจะบรรลุความสำเร็จ การวิเคราะห์ความสำเร็จของฮอนด้า มอเตอร์ จากการเข้าไปสู่ตลาดรถจักรยานยนต์ภายในอเมริกาจะะสะท้อนมุมมองของเขาได้อย่างดี
บทความเรื่อง Honda Effect ของ Richard Pascale จากวารสาร California Management Review ได้วิเคราะห์การเข้าไปสู่ตลาดรถจักรยานยนต์ภายในอเมริกาของฮอนด้า มอเตอร์ ด้วยการเปรียบเทียบกับข้อสรุปของ Boston Consulting Groups บริษัทที่ปรึกษาแนวหน้าของโลก ที่มองว่าความสำเร็จของฮอนด้าได้เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ แต่ Richard Pascale มองว่าความสำเร็จของฮอนด้า มอเตอร์ได้เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที้ไม่ได้วางแผนไว้ เขาได้สัมภาษณ์ผู้บริหารฮอนด้าเกี่ยวกับการเข้าไปสู่ตลาดรถจักรยานยนต์ภายในอเมริกาได้อย่างไร ผู้บริหารได้เล่าเรื่องราวความสำเร็จของฮอนด้าจะเกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ และโอกาสที่มองไม่เห็น
เมื่อผู้บริหารฮอนด้าได้เดินทางไปลอสแอนเจลิส อเมริกา เมื่อ ค.ศ 1959 กลยุทธ์ที่วางแผนไว้ของฮอนด้า มอเตอร์คือ การมุ่งขายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า 250 cc และ 350 cc ไม่ใช่ฮอนด้า 50 cc ที่นิยมแพร่หลายภายในญี่ปุ่น สัญชาตญานได้บอกแก่พวกเขาว่าฮอนด้า 50 cc ไม่เหมาะสมต่อชาวอเมริกันที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องใหญ่โตและหรูหรากว่าญี่ปุ่น แต่ยอดขายของฮอนด้า 250 cc และ 350 cc กลายเป็นเฉี่อยชา และเครื่องยนต์ได้เกิดบกพร่องด้วย กลยุทธ์ที่วางแผนไว้ของฮอนด้ากำลังจะล้มเหลว แต่ในขณะนั้นผู้บริหารฮอนด้าได้ขี่ฮอนด้า 50 ccไปทั่วลอสแอนเจลิส และได้สร้างความดึงดูดแก่ชาวอเมริกันจำนวนมาก ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะมีรถจักรยานยนต์ฮาเล่ย์ เดวิดสัน ครอบครองอยู่แล้ว ดังนั้นพวกเขาอยากจะมีรถจักรยานยนต์คันเล็กเหมือนเช่นฮอนด้า 50 cc ที่สวยงาน น่ารัก และจอดง่ายอีกคันหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ปรากฏขึ้นแก่ฮอนด้า
วันหนึ่งพวกเขาได้รับโทรศัพท์จากเซียร์ โรบัค ร้านค้าปลีกของอเมริกา ต้องการจะขายฮอนด้า 50 cc ภายในตลาดที่กว้างใหญ่ของอเมริกา ผู้บริหารฮอนด้าได้เกิดความลังเลใจตอนแรกที่จะยกเลิกการขายฮอนด้า 250 cc และ 350 cc ในที่สุดพวกเขาต้องยอมขายฮอนด้า 50 cc ยอดขายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อ ค.ศ 1964 ยอดขายรถจักรยานยนต์ทุกหนึ่งคันที่ขายได้จากสองคันภายในอเมริกาจะต้องเป็นฮอนด้า