อิมามมะฮ์ดี : ผู้กอบกู้วิกฤตทางศีลธรรมและจริยธรรมในยุคสุดท้าย
“ อิมามมะฮ์ดี : ผู้กอบกู้วิกฤตทางศีลธรรมและจริยธรรมในยุคสุดท้าย ”
โดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามศึกษา
ความเชื่อในเรื่องอิมามมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า ว่าจะเป็นผู้มาปลดปล่อยชาวโลกให้หลุดพ้นจากความอยุติธรรมและการกดขี่ และความทุกข์ยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นผู้จะมาสถาปนาความยุติธรรม ความสันติสุขและสร้างสันติภาพแก่ชาวโลกทั้งผองนั้น ถือว่าเป็นความเชื่อที่มีอยู่ในทุกศาสนาและทุก แต่ความเชื่ออันนี้นั้นมีอยู่ในความเชื่อของสำนักคิดซุนนี่และสำนักคิดชีอะฮ์ และในศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และฯลฯ
คัมภีร์ พระเวท ของชาวฮินดู ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่โลกนี้ ได้เข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมที่สุด กษัตริย์หนึ่งจะปรากฏขึ้นในยุคสุดท้าย เขาคือผู้นำแห่งศิลธรรม เขาจะพิชิตโลก และ ทำให้ชาวโลกทั้งผองอยู่ภายใต้ศาสนาของเขา ทั้งผู้ศรัทธาและไม่ศรัทธาจะรู้จักเขา
คัมภีร์ อะเวสตา ของชาวโซโรอัสเตอร์ ได้กล่าวไว้ว่า บุรุษหนึ่ง จะปรากฏขึ้นบนหน้าแผ่นดิน ผู้มีร่างกายกำยำและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ยืนหยัดอยู่ในศาสนาของตาของเขา จะนำความเจริญมาสู่เปอร์เซีย และจะทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์จนถึงขั้นที่หมาป่าจะกินน้ำเคียงข้างลูกแกะได้
คัมภีร์ ซันด์ หมวดหนึ่งจากคัมภีร์ อะเวสตา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อชัยชนะของพระเจ้ามาถึง บรรดามารร้ายและสาวกของมัน จะถูกพันธนาการไว้กับแผ่นดินและไม่มีทางเข้าสู่สรวงสวรรค์ และหลังชัยชนะอันนี้โลกจะเข้าสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง และลูกหลานของอาดัม จะนั่งอยู่บนบังลังก์แห่งความผาสุกตลอดไป
วิกฤตศิลธรรมและจริยธรรมก่อนปรากฏอิมามมะฮ์ดี
วิวัฒนาการด้านจริยธรรมของตะวันตกมีพื้นฐานความเป็นมา และกระบวนการต่อเนื่อง คำว่า จริยธรรมมิได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีจุดกำเนิดจากปรัชญาพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งการทำความเข้าใจในวิวัฒนาการด้านจริยธรรมตะวันตกจะทำให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของจริยธรรม ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมืองที่สำคัญของตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในช่วงต่อมา ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
•โสเกรตีส ได้สร้างหลักการสำคัญเกี่ยวกับคุณธรรม หรือจริยธรรม คือ ความรู้ คุณธรรม เป็นสิ่งที่อาจแสวงหาค้นพบได้ และคุณธรรมเป็นสิ่งที่อาจสอนและเรียนรู้ได้ คุณธรรมทางสังคมที่สูงสุด คือ ความยุติธรรม ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมือง คือ คุณธรรม และรัฐที่ดีที่สุด คือ รัฐที่มีการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือรัฐผสม (Mixed Regime) โสเกรตีส เชื่อว่า เมื่อราชากลายเป็นปรัชญาเมธี หรือเมื่อปรัชญาเมธีกลายเป็นราชาเท่านั้น รัฐที่ดีที่สุดจึงจะเกิดขึ้นได้
•เพลโต มีแนวความคิดหลักด้านจริธรรมว่า ผู้ปกครองหมายถึงนักปราชญ์ (Philosopher King) หรือผู้ทรงคุณธรรมควรเป็นผู้ปกครอง และเมื่อความรู้ คือคุณธรรม จึงจำเป็นต้องแสวงหาและฝึกฝนอบรมคนที่รู้ได้ดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างผู้ปกครองที่เป็นธรรม เพลโตแบ่งประเภทของคุณธรรมออกเป็น ๔ ประเภท คือ ปรีชาญาณ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม
•อริสโตเติล ปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลมุ่งที่จริยธรรมเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อวางมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติและข้อวัตรทางศีลธรรมจรรยา อันหมายถึง กฎหมาย ซึ่งแจกแจงออกเป็นแบบแผนทางสังคม และระบอบการปกครอง รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่ราษฎรจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งหมดเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” คุณธรรมหลักตามแนวคิดของอริสโตเติล มี ๔ ประการ คือ ความรอบคอบ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม
จากแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดจริยธรรมตะวันตกในช่วงต่อมาอย่างมาก
ลัทธิเซคคิวลาร์ “secularism” กับความวิกฤตในยุคปัจจุบันและอนาคตของมนุษยชาติ
การยอมรับว่าบ่อเกิดของศาสนามาจากตัวของมนุษย์เอง ก็คงจะเป็นคำตอบแก่ตัวของเขาว่าแท้จริงการเชื่อดังกล่าวไม่ใช่ความถูกต้องเลย เนื่องจากตัวของมนุษย์นั้นจะสูญสลายไปพร้อมกับศาสนาก็เป็นไปได้ หรือนักสังคมวิทยาหรือนักปรัชญาทางสังคมได้เชื่อว่าการเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาเป็นช่วงเวลาที่อ่อนแอของมนุษย์ ดังคำกล่าวของนักสังคมวิทยานักปรัชญาลัทธิปฏิฐานนิยม ศาสตราจารย์ ออคุสม์ กงต์(Auguste Comet 1979) เป็นชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง ได้กล่าวถึงการวิวัฒนาการของกระบวนการคิดของมนุษย์ว่ามีสามระดับ(three stages of human mind)คือ
๑)ระดับต่ำสุดคือระดับการคิดทางศาสนา(theological stsge) เข้าใจทุกอย่างในเชิงลึกลับในทำนองเหนือธรรมชาติ พิสูจน์ไม่ได้ มีมีปัญหาใดๆก็จะยอมรับฟังและจำนนตามคำสอนนั้น(ปราศจากการพิสูจน์และการทดลอง)
๒) ระดับรองลงมาคือการคิดทางอภิปรัชญา(metaphysical stage) เข้าใจอะไรก็จะอ้างได้เป็นระบบ เมื่อเป็นระบบแล้วก็จะพอใจ ไม่คำนึงว่าระบบนั้นจะผิดหรือถูก
๓)ระดับสูงสุดคือขั้นปฎิฐาน (positive stage) ขั้นนี้ถือว่าเป็นขั้นสุดยอดของจิตใจมนุษย์ จะยอมรับอะไรเป็นความรู้ด้วยการทดลองและการคิดตามแนวทางวิทยาศาสตร์ และถือว่าผู้ที่ไปถึงขั้นที่สามจัดอยู่ในระดับของพุทธิปัญญา และเขากล่าวว่าส่วนมากมนุษย์ยังอยู่ในระดับแรกนั่นคือมีกระบวนการคิดเชิงศาสนายังไม่บรรลุระดับพุทธิปัญญา
ลัทธิเซคคิวลาร์ มีชื่อเรียกในภาษาอาหรับว่า อัลมานียะฮ์” ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเรียกเช่นนี้ในภาษาอาหรับบ่งบอกถึงความหมายว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิชาความรู้ ซึ่งที่จริงแล้วความหมายดั้งเดิมของคำว่า “secularism” ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆกับศาสตร์แห่งการเรียนรู้เลย แม้แต่น้อย(science) แต่ทว่าเป้าหมายที่แท้จริงของคำนี้ก็คือการดำรงชีวิตอยู่บนรากฐานแห่งสติปัญญาและความรู้ที่ได้คิดค้นขึ้น แบ่งแยกสิ่งเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบออกจาศาสนาและวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งการเรียกที่ถูกต้องในภาษาอาหรับก็คือคำว่า“อัล-ลาดีนี่ยะฮ์” ซึ่งมีความหมายเป็นไทยว่า “ลัทธิไร้ศาสนา”(ดู: อัล เมาซูอะฮ์อัลมุยัสสะเราะฮ์ หน้า 679 เล่มสอง ดร. มานิอฺอิบนฺ ฮัมมาดอัลญุฮะนีย์)
ลัทธินี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในยุโรปในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดและได้เคลื่อนย้ายเข้ามาในตะวันออกกลางในต้นศตวรรษสิบเก้าโดยรูปแบบของรากฐานทีมั่นคงยังประเทศอียิปต์ ตุรกี อิหร่าน เลบานอน ซีเรีย และก็ตูนีเซีย ต่อมาก็ตามด้วยประเทศอิรักในปลายศตวรรษสิบเก้า ส่วนอาหรับประเทศอื่นๆได้เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ
ความหมายที่เป็นมติฉันท์ของคำว่า (secularism)”เซคคิวลาร์” คือการแบ่งแยกศาสนาออกจากการปกครองและการดำเนินชีวิต ซึ่งเพียงแต่ยังคงศาสนาไว้ในความความคิดและความทรงจำในหัวใจของบุคคลหนึ่งซึ่งไม่มีการเกี่ยวข้องกับพระเจ้าแต่อย่างใด หรืออาจจะมีบ้างก็เพียงแค่สัญลักษณ์หรือประเพณีบางประการอย่างเช่นพิธีแต่งงาน หรือพิธีฝังศพ และอื่นจากนี้
ความเสียหายทางจริยธรรมและศิลธรรมของการปรากฏลัทธิแซคคิวล่านั้น ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ
๑ . หมวดทางการเมือง
• แบ่งแยกศาสนาออกจากการปกครองและดำรงชีวิตด้วยกับหลักคิดแบบปรัชญาวัตถุนิยม
. ปฏิเสธคำสอนของศาสนาในด้านการปกครอง
.ปฎิเสธระบอบการปกครองแบบเทวาธิปไตย แต่นิยมในประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
๒. หมวดทางเศรษฐกิจ
นิยมในลัทธิทุนนิยม แบบเสรีนิยม
ปฏิเสธในหลักเศรษฐศาสตร์แบบศาสนา
๓.หมวดทางศาสนาและ สังคม
ปฏิเสธศาสนา ไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า
• ปฏิเสธความสำพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับการดำเนินชีวิตของมนุษย์
• การกล่าวอ้างว่าศาสนาคือความงมงาย และศาสนาอิสลามนั้นคือวิถีแห่งพิธีกรรมและความเชื่อทางจิตวิญญาณเท่านั้น
• การกล่าวอ้างว่าหลักศาสนาและกฏหมายทางศาสนาเป็นหลักคิดที่ล้าหลังไม่ทันต่อยุคสมัย
• ปฏิเสธชีวิตหลังความตายและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ
• หลักจริยธรรม แบบสัมพัทธ์ ไม่ใช่สัมบูรณ์
ลัทธิก่อการร้าย กลุ่มนิยมสุดโต่งทางศาสนากับวิกฤตของมนุษยชาติ
นับแต่ต้นทศวรรษที่1990 ต่อมาถูกผนวกกับความรุนแรงในนามของ”การก่อการร้าย”และการปราบปรามการก่อการร้าย ที่อ้างตนเองว่าเป็น”ผู้ก่อการดี” เพื่อจะพิทักษ์โลกและจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย และนั่นเป็นการเริ่มต้นของการกำเนิดกลุ่มนิยมความรุนแรงและความสุดโต่งในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจ
แซมมวล อันติงตัน คล้ายตระหนักถึงสัญญาณความรุนแรงใหม่ หรือไม่ก็พยายามสร้างศัตรูและให้เห็นถึงวิถีของประชาคมโลกและมนุษยชาติกำลังตกอยู่ในภาวะของความอันตรายในนิยามของความรุนแรงแบบตรรกะใหม่ เพื่อให้รัฐบาลของอเมริกามีความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในและภายนอกของประเทศอื่นๆ อันติงตันถือว่าความขัดแย้งหลังสงครามเย็นคือโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความรุนแรงในตรรกะใหม่ เป็นตรรกะของการปะทะทางอารยธรรม
นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ต่างได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน และกล่าวว่าการนำเสนอทฤษฎีการปะทะทางอารยธรรมของอันติงตันนั้น ยังมีช่องโว่และมีข้อโต้แย้งอีกหลายประเด็น ดังนั้นทำให้นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาได้กล่าวว่า แท้จริงความรุนแรงในตรรกะใหม่หลังสงครามเย็น คือ ความรุนแรงภายในอารยธรรมของความต่าง นั่นการกำเนิดกลุ่มต่างๆที่นิยมความรุนแรงและมีอัตลักษณ์ที่กร้าวและสุดโต่ง (อ้างจากบทความ โลกาภิวัตน์กับตรรกะใหม่ของความรุนแรง หน้า ๔)
นักมานุษยวิทยา ดั่งเช่นท่าน อรชุน อัปปาดูรัย(ArjunAppadurai) ได้กล่าวว่า ความรุนแรงยุคหลังสงครามเย็นเป็นความรุนแรงภายในอารยธรรม ที่มีหลายแง่มุมและหลายรูปแบบ เขากล่าวอีกว่า โลกปัจจุบันคือโลกแห่งการปะทะ แต่มิใช่การปะทะทางอารยธรรม หากแต่เป็นการปะทะของระบอบโลก
อัปปาดูรัยกล่าวว่า สงครามที่จะเกิดขึ้น เป็นภาวะของการปะทะ ดังนั้นสงครามจะเป็นสงครามเพื่อสร้างศัตรู และเพื่อค้นหา กำหนดศัตรู ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสงครามที่กระทำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเท่านั้น แต่รวมไปถึงการฆ่าและการสังหารหมู่ในเชิงสัญลักษณ์ที่ถือว่าเป็นศัตรูทางความเชื่อหรือทางชาติพันธุ์ เป็นการใช้ความรุนแรงในการสังหารหรือการฆ่า ที่เป็นตรรกะการชำแหละร่าง การฆ่าตัดคอ เป็นการฆ่าอย่างเถื่อนโหดเพื่อทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
การปรากฏของกลุ่มนิยมความรุนแรง อาจจะเกิดจากความขัดแย้งทางความเชื่อ เป็นการตีความในตัวบทคัมภีร์ที่เข้าใจแตกต่างกัน รวมไปถึงการคลั่งในชาติพันธุ์ ลัทธิชาตินิยม หรือชาติพันธุ์นิยม หรือการนิยมความรุนแรงเกิดจากการจินตภาพทางด้านความเชื่อที่มองในด้านเดียว มีอคติต่อกันและกัน
การปรากฏของกลุ่มนักรบไอเอส(IS)หรือที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มจัดตั้งรัฐอิสลาม(Islamic State)โดยการนำของ อบูบาการ์ แบกแดดีย์(Abu Bakr al-Baghdadi) เพื่อเรียกร้องรัฐคอลีฟะฮ์ รัฐอิสลามในอดีตที่เคยสร้างความรุ่งเรืองแก่ประชาคมมุสลิมมาอย่างน่าภาคภูมิ แต่ทว่าทางกลับกันทั่วโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตกได้เสนอข่าวความรุนแรงและความสุดโต่งของขบวนการกลุ่มไอเอส โดยการนำเสนข่าวการเข่นฆ่าสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวเคิร์ด ชาวชีอะฮ์ และชนเผ่าอื่นๆ อย่างโหดร้ายทารุณ ในบางเหตุการณ์ สื่อตะวันตกประโคมข่าวว่า กลุ่มไอเอส ได้ฆ่าตัดศีรษะนักข่าวชาวตะวันตก และถือได้ว่านี่คือความวิกฤตที่รุนแรงหนึ่งของมนุษยชาติ แต่ทว่าเป็นความวิกฤตที่อยู่ภายในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป้าหมายเพื่อบิดเบือนคำสอนของรัฐอิสลามที่แท้จริง