มาเลเซียกับประชาคมอาเซียน 2015
มาเลเซียกับประชาคมอาเซียน 2015
จรัญ มะลูลีม
มาเลเซียเป็นประเทศ ASEAN ที่มีมุสลิมอยู่ราวร้อยละ 60 หรือ 15 ล้านคน ถือเป็นประเทศมุสลิมที่อยู่ในแถวหน้า รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย มาเลเซียถือว่าการศึกษาสำคัญสูงสุดในการพัฒนาคนด้วยเหตุนี้ผู้นำมาเลเซียส่วนใหญ่จึงผ่านการเป็นรัฐมนตรีศึกษามาแล้วเกือบทั้งสิ้น กระทรวงศึกษาจึงถือว่าเป็นกระทรวงเกรด A มิใช่เกรด C หรือเป็นกระทรวงของรัฐมนตรีที่หาที่ลงไม่ได้แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาทางด้านการศึกษาแล้วประเทศที่มีประชากร 28 ล้านคนอย่างมาเลเซีย จะมีผู้สนใจไปศึกษาจากโลกมุสลิมมากกว่าประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดอย่างอินโดนีเซียที่มีประชากร 234 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาเลเซียใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาเป็นส่วนมาก
คนมาเลเซียเองก็เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ดังนั้นคนที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในมาเลเซียจะได้สำเนียงการออกเสียงภาษาอังกฤษ ที่เรียกกันว่าอังกฤษมาเลย์ อังกฤษจีนและอังกฤษอินเดียไปในเวลาเดียวกัน เพราะประเทศมาเลเซียนั้นประกอบไปด้วยชาวมาเลย์ร้อยละ 60 จีนร้อยละ 30 อินเดียและเชื้อสายอื่นๆ ร้อยละ 10 แต่เมื่อรวมประชากรมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดก็เชื่อกันว่ามีไม่น้อยกว่า 58 ล้านคน โดยมีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ร้อยละ 40.20 คืออินโดนีเซียร้อยละ 86 บรูไนร้อยละ 67 มาเลเซียร้อยละ 60 และไทย ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องจำนวนประชากรมุสลิม แต่คาดว่าจะมีอยู่ราวร้อยละ 9-10
เมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในช่วง ค.ศ. 1990 มาเลเซียก็เน้นไปที่แนวคิดเศรษฐกิจนำการเมือง พร้อมประกาศให้มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ใน ค.ศ. 2020 เรียกการพัฒนานี้ว่าวิสัยทรรศน์ 2020 (Vision 2020)
การพัฒนาประเทศภายใต้การนำของมหฏิร โมฮัมหมัด (Mahathir Mohammad) ผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานถึง 23 ปี ได้รับการขานรับจากประชาคม ASEAN และประชาชนมาเลเซียตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาเลเซียยืนยันที่จะเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ด้วยการเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน มาเลเซียก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเรียนรู้ว่ามาเลเซียจะยืนแถวหน้าของ ASEAN ได้อย่างไร
มาเลเซียแสดงการพัฒนาทางกายภาพให้เห็นในหลายๆ ด้าน เช่นการสร้างหอคอยกัวลาลัมเปอร์ ตึกแฝดปริโตนาสที่แสดงให้เห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีอัตราผู้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่เดิมมาเลเซียมักจะยึดเอาตึกรัฐสภาของตนที่ดูเด่นเป็นสง่าเป็นหน้าตาของประเทศ แต่เมื่อตึกแฝดปิโตรนาสก่อสร้างเสร็จสิ้นลง การพูดถึงตึกปิโตรนาสที่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของมาเลเซียก็กลายเป็นหน้าตาของมาเลเซียไปในที่สุด ที่สำคัญก็คือตึกปิโตรนาสได้ก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในช่วงที่หลายประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ
การเตรียมพร้อมของมาเลเซียสู่อาเซียน ยังเห็นได้จากความสำเร็จในการสร้างศูนย์กลางของเมืองราชการขึ้นในเมืองใหม่ที่เรียกว่าปุตราจายา (Putra Jaya) ที่เน้นการออกแบบที่มาจากส่วนผสมของสถาปัตยกรรมอิสลามและสถาปัตยกรรมตะวันตกไปพร้อมๆ กัน (ชื่ออาคารนี้อุทิศให้กับตวนกู อับดุรเราะห์มาน ปุตรา อัล-ฮัจญ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเชื้อสายไทยคนแรก)
นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนับจากมหฏิร โมฮัมมัด จนถึงนาญิบ ตุน รอซัก ล้วนเดินตามแนวคิดก้าวไปข้างหน้า (the way forward หรือ Looking forward) มาโดยตลอด รวมทั้งแนวคิดที่ว่านโยบายที่ดีต้องคงไว้
นอกจากมาเลเซียจะเน้นให้เพื่อนบ้าน ASEAN ยอมรับแล้ว มาเลเซียยังมีความปรารถนาให้สังคมโลกยอมรับ โลกมุสลิมยอมรับ โดยผ่านการเป็นประธานองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference) หรือ OIC และประธานของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Nonalignment หรือ NAM) มาก่อน (โลกมุสลิมให้การยอมรับมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองมาเลเซียว่าเป็นประเทศที่ศาสนาและการพัฒนาอยู่เคียงข้างกัน)
มาเลเซียยืนยันว่าต้องให้ความสำคัญแก่ ASEAN เป็นอันดับแรก ตามแนวคิดที่ว่าก่อนที่จะให้โลกยอมรับมาเลเซียเพื่อนบ้านต้องยอมรับมาเลเซียเสียก่อน
การพัฒนาเกาะลังกาวีก็เป็นหนึ่งในการเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคม ASEAN เช่นกัน ปัจจุบันเกาะลังกาวีได้รับการพัฒนาอย่างมากรวมทั้งการถมทะเลด้วยและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ (การสร้างตำนานเรื่องปะไหมสุหรี ซึ่งมีเลือดสีขาว และคำสาปได้รับการเล่าขานติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน)
สำหรับมาเลเซียการพัฒนาการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าสู่ประชาคม ASEAN จึงไม่น่าแปลกใจที่มาเลเซียได้ทุ่มเทในด้านการศึกษาอย่างมาก รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่เรียนดีอย่างต่อเนื่อง
อันเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มาเลเซียจึงเลื่อนระยะเวลาการเป็นประเทศพัฒนาแล้วจาก ค.ศ. 2020 (Vision 2020) ให้เร็วขึ้นเป็น ค.ศ. 2015
มาเลเซียมองว่าการศึกษาคือทรัพย์สินทางปัญญาและเป็นอุตสาหกรรม การเปิดเสรีทางการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาเปิดในประเทศตัวเอง และสามารถโอนหน่วยกิตได้ รวมทั้งการเปิดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศหลายแห่งเพื่อเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร
จึงอาจกล่าวได้ว่ามาเลเซียในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ASEAN มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคม ASEAN ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นใด มาเลเซียจึงเป็นสมาชิก ASEAN ที่มีความกระตือรือร้นที่สุดในการเข้าสู่ประชาคม ASEAN ที่หวังกันว่าว่าเป็นเวทีสำคัญในการนำเอาเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย (Unity in Diversity) มาให้ประชาชนในประเทศที่เป็นรัฐสมาชิกโดยพร้อมเพรียงกัน
เมื่อพิจารณาถึงประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามใน ASEAN ทั้งสามประเทศคือบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีน้ำมันสำรองอยู่มาก รวมทั้งยางธรรมชาติดีบุกและวัตถุดิบอื่นๆ ในอินโดนีเซียและมาเลเซียก็นำสู่จุดสรุปเดิมว่าการศึกษาในประเทศมาเลเซียยังมีผู้นิยมมากกว่า และมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ความจริงนักศึกษาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษามุสลิม เมื่อไปศึกษาที่ใดก็อาจจะซึมซับความเป็นอยู่และแนวคิดมาจากประเทศนั้นๆ ได้เช่นกัน
อย่างเช่นนักศึกษาไทยที่ไปเรียนที่ซาอุดีอาระเบียและปากีสถานจะได้รับอิทธิพลวิธีคิดจากคำสอนอิสลามที่นำเสนอโดยมุฮัมมัด บินอับดุลวาฮับหรือที่เรียกกันว่าวาฮะบีย์
นอกจากนี้นักศึกษามุสลิมที่นี้จะเน้นความเป็นชาติพันธุ์มาเลย์หรือชาตินิยมมาเลย์ (Malayness) อยู่ด้วยในการแสดงออกบ่อยครั้ง