jos55 instaslot88 Pusat Togel Online สุรชาติ บำรุงสุข : แม้ฤดูใบไม้ผลิจะมาช้า แต่ฤดูหนาวก็ไม่ยาวนานตลอดไป - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

สุรชาติ บำรุงสุข : แม้ฤดูใบไม้ผลิจะมาช้า แต่ฤดูหนาวก็ไม่ยาวนานตลอดไป

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 – 22 มีนาคม 2561
คอลัมน์ ยุทธบทความ
ผู้เขียน สุรชาติ บำรุงสุข
เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2561
“ไม่มีฤดูหนาวใดที่ยาวนานตลอดกาล แต่ก็ไม่มีฤดูใบไม้ผลิใดที่จะเว้นว่างไม่มาเยือน”

HAL BORLAND

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามีภาษาทางการเมืองเกิดขึ้นและใช้กันอย่างกว้างขวางคำหนึ่งคือ “ฤดูใบไม้ผลิ” (spring)

แน่นอนว่าฤดูใบไม้ผลินี้ไม่ได้มีความหมายถึงการเปลี่ยนผันของฤดูกาลที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาในแต่ละปี

แต่คำนี้หมายถึง “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” (political spring) ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของขบวนการปฏิวัติ หรือมีนัยถึง “คลื่นของการปฏิวัติ” เมื่อผลจากการต่อสู้ทางการเมืองถูกนำเอาไปเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งชัยชนะจากการต่อสู้ของประชาชนในการได้มาซึ่งเสรีภาพ หรือจะเป็นชัยชนะจากการปฏิวัติของประชาชน

จึงเป็นดัง “ฤดูใบไม้ผลิ” ในทางการเมืองนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ

ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว ปี ค.ศ.1848 (พ.ศ.2391) เป็นเส้นเวลาสำคัญ เพราะปีดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” (Democratic Revolution) ในเวทีโลก

หรือที่ปีนี้ถูกเรียกว่า “ปีแห่งการปฏิวัติ” (The Year of Revolution) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จุดเริ่มต้นของความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรป

จนถึงกับในบริบททางประวัติศาสตร์ว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้เป็นการขยายตัวของ “กระแสปฏิวัติ” ที่สำคัญที่สุดของยุโรป

การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายโดยตรงต่อการเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการเมืองแบบเดิม และขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามของการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐเอกราชใหม่

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้เริ่มขึ้นที่ซิซิลีในเดือนมกราคม 1848 แล้วหลังจากนั้นการต่อสู้เช่นนี้ก็ขยายตัวเป็น “กระแส” ไปทั่วทั้งยุโรป

กระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดนี้ไม่ได้มีการสอดประสานกันไปด้วยความร่วมมือของผู้นำทางการเมืองในประเทศต่างๆ แต่เป็นกระแสที่ถูกจุดประกายขึ้นแล้วก็ขยายตัวออกไปด้วย “ความรู้สึกร่วม” ของผู้คนในสังคมยุโรปขณะนั้นจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระแสที่จุดติด

ปัจจัยที่ทำให้กระแสจุดขึ้นและสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นผลมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อระบบการปกครองที่เป็นอยู่

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็เริ่มเรียกร้องมากขึ้นในการมีส่วนร่วมทางการเมือง พร้อมๆ กับเรียกร้องให้ขยายขอบเขตของสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในสังคม เช่น การเรียกร้องให้ขยายเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น

แม้ข้อเรียกร้องเช่นนี้จะเป็นดังการแสวงหาสิทธิของชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวและมีบทบาทมากขึ้นในบริบทของการขยายตัวของความเป็นเมืองในยุโรป

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อเรียกร้องของชนชั้นล่าง บรรดาคนงานมีการเรียกร้องมากขึ้น

ซึ่งก็คือภาพสะท้อนถึงการขยายตัวของความเป็นอุตสาหกรรมของสังคมยุโรป

เพราะการขยายตัวของระบบทุนนิยมในขณะนั้นส่งผลให้เกิดการขยายตัวของความต้องการแรงงาน

อันทำให้ขบวนการแรงงานเริ่มมีพลังมากขึ้นในทางการเมือง และขณะเดียวกัน การเรียกร้องทั้งของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานก็ผนวกเข้ากับความต้องการของนักชาตินิยมที่ต้องการเดินไปสู่การจัดตั้งรัฐเอกราชใหม่ อีกทั้งยังสมทบด้วยข้อเรียกร้องของนักปฏิรูปทางการเมืองที่ต้องการเห็นระบบการปกครองใหม่ที่มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

แม้บุคคลหลักๆ ในกลุ่มการเมืองเหล่านี้จะไม่ได้ร่วมมือกันโดยตรง แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปขณะนั้นถึง 50 ประเทศได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของกระแสปฏิวัติชุดนี้

พลวัตการเมืองดังกล่าวจึงเป็นดัง “กระแสปฏิวัติประชาธิปไตย” ชุดแรกของการเมืองยุโรปและการเมืองโลก

แม้ข้อเรียกร้องของพวกเขาจากกลุ่มและชนชั้นต่างๆ อาจจะแตกต่างกัน

แต่พวกเขาล้วนต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาเรียกร้องให้มีระบบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยตัวแทน” นั่นเอง

ดอกไม้ประชาธิปไตยผลิบาน

ในสภาวะเช่นนี้ การต่อสู้ทางการเมืองเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว เพราะแม้กระทั่งขุนนางบางส่วนก็ไม่พอใจกับระบอบการปกครองเดิม แม้ชนชั้นกลางกับชนชั้นแรงงานจะไม่ได้ร่วมกันโดยตรง แต่พวกเขาดูจะมีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการการปฏิรูป และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

นอกจากนี้ ปี 1848 ยังมาพร้อมกับ “กระแสสังคมนิยม” โดยในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเช่นนี้ สันนิบาตคอมมิวนิสต์ได้มีการเรียกร้องให้มีการเขียนคำชี้นำให้กับชนชั้นกรรมาชีพ

คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเกลส์ จึงเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่กลายเป็นมรดกทางความคิดสำคัญของชาวสังคมนิยม ได้แก่ “Manifesto of the Communist Party” (พิมพ์ในเยอรมนีและในอังกฤษในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1848)

หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของการเรียกร้องของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนีในเดือนมีนาคม 1848

แม้หนังสือจะเรียกร้องให้เกิดการรวมตัวเพื่อการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ก็มีการเรียกร้องให้รวมเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียว

เรียกร้องให้มีการออกเสียงเลือกตั้ง การยกเลิกอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง เป็นต้น

แม้บทบาทของชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพจะแตกต่างกัน แต่ก็คงต้องยอมรับว่าชนชั้นกลางเป็นตัวจุดกระแสและชนชั้นล่างเป็นพลังดัง “ปืนใหญ่” ของการต่อสู้

และการต่อสู้นี้เริ่มต้นขึ้นในเมือง อันเป็นภาพสะท้อนถึงบทบาทของชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพในเมือง ที่กำลังขยายตัวจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของยุโรป ที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกระบวนการสร้างอุตสาหกรรมในสังคม

ขณะเดียวกัน สภาวะของความไม่พอใจเช่นนี้ก็เห็นได้ในชนบทเช่นกัน

การขยายตัวของประชากร ความขาดแคลนอาหาร และความจำกัดในการถือครองที่ดินในการทำการเกษตร

ผลเช่นนี้ด้านหนึ่งทำให้เกิดการอพยพไปสหรัฐเพื่อเริ่มชีวิตใหม่

แต่อีกด้านก็ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในชนบท

เช่น ในปี 1829-1830 มีคนถูกกล่าวหาว่าลักขโมยไม้ใน Rhenish Palatinate สูงถึง 100,000 คน และในปี 1846-1847 ก็สูงมากถึง 185,000 คน เป็นต้น

และยังผสานเข้ากับ “วิกฤตความขาดแคลนอาหาร” ครั้งใหญ่ในยุโรป

ในที่สุดแล้ว สภาพเช่นนี้ทำให้เกิด “กบฏชาวนา” ในหลายพื้นที่ หรือกลายเป็น “กบฏอาหาร” เช่นในฝรั่งเศส เป็นต้น

ความไม่พอใจต่างๆ เมื่อผสมผสานกันแล้วก็กลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ของการปฏิวัติในปี 1848 แม้จะมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ “กระแส 1848” ก็ได้พาอุดมการณ์สำคัญ 3 ชุดเข้าสู่สังคมยุโรปได้แก่ ลัทธิเสรีนิยมและประชาธิปไตย ลัทธิชาตินิยม และลัทธิสังคมนิยม

ซึ่งอุดมการณ์ทั้งสามชุดนี้ได้ส่งผลต่อการเมืองยุโรปจากปีดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น สำหรับนักประชาธิปไตย ปี 1848 คือจุดเริ่มต้นของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” หรือเป็นฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองที่มาพร้อมกับการขยายตัวของเสรีภาพและประชาธิปไตย

หรือสำหรับนักชาตินิยมก็เป็น “ช่วงเวลาของความหวังในฤดูใบไม้ผลิ” (the springtime of hope) ของการสร้างรัฐ และสำหรับนักสังคมนิยมนี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติตามแนวทางของมาร์กซ์

สำหรับหลายประเทศแล้ว 1848 จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “ฤดูใบไม้ผลิของชาติ” (The Spring of Nation) หรือเป็น “ฤดูใบไม้ผลิของประชาชน” (People”s Spring) หรือเป็นดัง “ปีแห่งการปฏิวัติ” (The Year of Revolution)

ซึ่งก็ทำให้คำว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” กลายเป็นภาษาทางรัฐศาสตร์ที่บ่งบอกถึงชัยชนะของการต่อสู้ทางการเมือง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นดังการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิ

ฤดูใบไม้ผลิในโลกปัจจุบัน

ในยุคปัจจุบัน คำนี้น่าจะใช้เป็นครั้งแรกกับการเรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษาประชาชนในเชโกสโลวะเกียในปี 1968 การเรียกร้องเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” หรือ “สปริง” กับความพยายามในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง ดังนั้น หากจะรวบรวมการต่อสู้ในลักษณะที่ถูกเรียกว่าฤดูใบไม้ผลิแล้วก็จะมีดังต่อไปนี้

– ปรากสปริง (The Prague Spring) ในปี 1968 ซึ่งเป็นการต่อสู้ในการเรียกร้องเสรีภาพและต้องการให้ประเทศเป็นเสรีนิยม พร้อมๆ กับการลดการควบคุมของสหภาพโซเวียตต่อเชโกสโลวะเกียลง การเรียกร้องไม่ประสบความสำเร็จและถูกปราบปรามด้วยกำลังของโซเวียต จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องเกิดขึ้นที่กรุงปรากซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ แม้การต่อสู้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นหนึ่งในการร้องหาเสรีภาพที่สำคัญในยุคสงครามเย็น

– ปักกิ่งสปริง (The Beijing Spring) เป็นการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในจีนในช่วงปี 1978-1979 แม้จะจบลงด้วยการถูกปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่การต่อสู้ครั้งนี้ก็ส่งผลอย่างมากกับการปฏิรูปการเมืองจีนในเวลาต่อมา

– โซลสปริง (The Seoul Spring) หมายถึงการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ในช่วงปลายทศวรรษของปี 1970 และต้นทศวรรษของปี 1980

– ย่างกุ้งสปริง (The Rangoon Spring) เป็นการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนหลังจากรัฐประหารในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ในพม่า หรือที่เรียกว่า “การลุกขึ้นสู้ 8888”

– กาฏมาณฑุสปริง (The Kathmandu Spring) เป็นการต่อสู้ของ “ขบวนการประชาชน” และรวมถึงขบวนการประชาธิปไตยในเนปาลในช่วงทศวรรษของปี 1990

– เตหะรานสปริง (The Tehran Spring) บ่งบอกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในอิหร่านจากปี 1997-2005

– ดามัสกัสสปริง (The Damascus Spring) หมายถึงการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในซีเรียหลังจากการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอัล อัสซาด (ผู้พ่อ) ในปี 2001

– ซีดาร์สปริง (The Cedar Spring) เป็นการชุมนุมในเลบานอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเบรุต การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดีฮารีรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 การชุมนุมครั้งนี้มีจุดเด่นที่พยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ใช้วิธีการอย่างสันติโดยเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียถอนกำลังออกจากเลบานอน และจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของเลบานอน

การเรียกร้องประสบความสำเร็จ และในเดือนเมษายน 2005 รัฐบาลซีเรียก็ตัดสินใจถอนกำลังออกจากเลบานอน

คำว่า “ซีดาร์” เกิดจากการแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่เรียกเปรียบเทียบถึงการต่อสู้ทางการเมืองในจอร์เจียว่าเป็น “การปฏิวัติกุหลาบ” (The Rose Revolution) ในยูเครนเป็น “การปฏิวัติสีส้ม” (The Orange Revolution) และในอิรักว่าเป็น “การปฏิวัติสีม่วง” (The Purple Revolution)

– อาหรับสปริง (The Arab Spring) คือการเรียกร้องทางการเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในช่วงปี 2010-2014 ดังเช่นความสำเร็จในตูนิเซียและอียิปต์ หรืออาจจะเรียกว่า “การปฏิวัติในโลกอาหรับ”

– ริยาดสปริง (The Riyadh Spring) เป็นการประท้วงในซาอุดีอาระเบียในช่วงปี 2011-2012

– บาเลนเซียสปริง (The Valencian Spring) เป็นการชุมนุมเรียกร้องของนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่คัดค้านการตัดงบประมาณการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 มีการใช้กำลังตำรวจเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง

– เวเนซุเอลาสปริง (The Venezuelan Spring) คือการชุมนุมประท้วงในเวเนซุเอลาอันเป็นผลจากสภาวะทางเศรษฐกิจและความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ว่าที่จริงแล้วการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิก็ไม่ใช่หลักประกันว่าฤดุนี้จะอยู่อย่างยาวนานตลอดไป ในบางกรณี ฤดูใบไม้ผลิอาจจะสั้นและหวนคืนสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง เช่นกรณีของอียิปต์ในปี 2013 เป็นต้น แต่การจากไปของฤดูใบไม้ผลิก็ใช่สัญญาณว่าเราจะต้องยอมทนอยู่กับฤดูหนาวตลอดไป

และก็ไม่มีฤดูหนาวใดที่จะอยู่ตลอดกาลจนไม่มีฤดูใบไม้ผลิ!

 

ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_89919

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *