แนวความคิดเรื่องสงครามของศาสนาอิสลาม
ปรัชญาของคัมภีร์อัล-กุรอานในการควบคุมความขัดแย้งทางอาวุธและสงครามถูกเข้าใจผิดมากที่สุด ทั้งโดยผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่เสนอว่าปรัชญาของคัมภีร์อัล-กุรอานสนับสนุนให้เกิดลัทธิผจญภัย (Adventurism) ลัทธิการขยายอำนาจ (Expansionism) และสนับสนุนสงคราม ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวจะพึ่งพิงอยู่กับความคิดในเรื่องดารุลหัรบ์ (Darulharb) คือเขตแดนแห่งสงครามกับดารุล อิสลาม (darul Islam) คือเขตแดนแห่งความสันติ โดยละเลยคำสั่งในภาคปฏิบัติและความมีเหตุมีผล
โดยทั่วไปอาจจะปรากฎกฎหมายที่ว่าด้วยสงครามที่มอบให้แก่มนุษย์ในฐานะที่เป็นคำบัญชาใช้ของพระเจ้าเมื่อหนึ่งพันสี่ร้อยปีที่ผ่านมานั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจุบันในบริบทของความขัดแย้งสมัยใหม่และสงคราม แต่หากว่าเราศึกษาผ่านปรัชญาแห่งคัมภีร์ของอัล-กุรอานด้วยจิตใจที่เปิดกว้างไม่เอียงข้างแล้วเราจะเห็นความเกี่ยวข้องและผลประโยชน์ของคำสอนนี้
ความคิดที่อยู่เบื้องหลังปรัชญาแห่งสงครามมิได้เป็นการทำให้มุสลิมมีอำนาจมากขึ้นหรือเพื่อการขยายดินแดน และกลุ่มเป้าหมายมิใช่อยู่ที่ผู้มีความคิดแตกต่างจากพวกเขา แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการกดขี่และการทำให้เกิดอันตรายบนโลกนี้คือผู้ที่ทำลาย “สัญญา” ซึ่งได้ทำไว้กับพระเจ้านั่นแหละที่จะต้องถูกลงโทษจากอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ
ศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้นในคาบสมุทรอาระเบีย และชาวมุสลิมรุ่นแรกคือชาวอาหรับ ฉะนั้นคงจะไม่เป็นการนอกประเด็นหากเราจะกล่าวถึงชาวอาหรับเป็นหลักในบางจุด สำหรับชาวอาหรับนั้นไม่เพียงแต่ถือว่าสงครามเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและน่าเกลียดน่าชังเท่านั้น (วรรณกรรมอาหรับเรียกมันด้วยฉายาที่น่าชัง เช่น การิฮา = สิ่งที่น่ารังเกียจ) แต่ยังปฏิบัติตามความคิดเช่นนั้นด้วย
ชาวอาหรับสนใจในกิจกรรมอื่นๆ เช่น วรรณกรรม บทกวี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ ปรัชญา คณิตศาสตร์ ดนตรี ความรัก อาหารดีๆ การค้าขาย การท่องเที่ยวมากกว่าจะสนใจในเรื่องการทำสงคราม
เราจะเห็นได้ว่าโลกไม่ได้ความรู้อะไรจากชาวอาหรับเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับการสงครามอย่างเช่นการค้นพบดินปืน อาวุธยุทธภัณฑ์ การสร้างเรือรบ การใช้ปืนใหญ่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากนอกโลกอาหรับทั้งนั้น
พวกเขาจะเลือกทำสงครามเป็นประตูสุดท้ายเมื่อไม่มีทางอื่นที่ดีกว่า และจะรีบออกจากการต่อสู้ในโอกาสแรกเท่าที่จะทำได้ และปล่อยทำสงครามให้เป็นหน้าที่ของชาติอื่นๆ เช่น ชาวเปอร์เซีย ชาวเติร์กและชาวตาร์ตาร์ เป็นต้น ส่วนพวกเขาเองจะรื่นเริงอยู่กับชีวิตที่สงบหรือเพื่อสร้างผลงานในด้านอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว
หากมีการขัดแย้งกันชาวมุสลิมอาหรับ ในสมัยที่ท่านผู้นำของพวกเขาคือศาสดามุฮัมมัดยังอาศัยอยู่ในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบียจะใช้ความอดทน หรือมิฉะนั้นก็ใช้การพูดโต้เถียงหรือการทำละหมาด การพูดจาเกลี้ยกล่อมหรือใช้ตัวอย่างที่ดี แต่ไม่มีการใช้ความรุนแรงเพราะผู้นำของพวกเขาถือว่าพระเจ้ายังไม่ทรงอนุญาตให้ต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธแม้กระทั่งเมื่อได้รับการกลั่นแกล้งและทรมานจากฝ่ายที่ต่อต้านอิสลาม
ท่านศาสดาก็ยังกล่าวว่า “ฉันยังไม่ได้รับคำสั่งให้ต่อสู้!” อีกทั้งในระยะสั้นได้มีวิวรณ์ลงมาจากพระเจ้าว่า จงเชิญชวนทุกคนมาสู่หนทางของพระผู้อภิบาลด้วยความรอบรู้และคำเทศนาที่ดี และจงโต้เถียงกับพวกเขาในวิธีที่ดีที่สุดและด้วยความกรุณาที่สุดเถิด
หลังจากท่านศาสดาและชาวมุสลิมในนครมักกะฮ์ได้อพยพมาอยู่ที่นครมะดีนะฮ์และได้ตั้งชุมชนและรัฐบาลแรกของอิสลามขึ้นก็จำเป็นต้องจัดการกับโลกของการเมืองในวงกว้างขึ้น ประกอบกับการรุกรานทางทหารและการท้าทายต่อความปลอดภัยของชุมชนมุสลิมมีมากขึ้น พระเจ้าจึงได้ทรงส่ง วะฮีย์ (วิวรณ์) ลงมาให้มุสลิมทำการต่อสู้ด้วยอาวุธได้ดังโองการที่วา
การอนุญาตให้ต่อสู้ได้ถูกประทานแก่บรรดาผู้ที่ถูกทำสงครามกับพวกเขาเพราะพวกเขาได้รับความอธรรม แท้จริงนั้นอัลลอฮ์ทรงอำนาจที่จะช่วยพวกเขาได้ การอนุญาตนี้ได้ถูกประทานแก่บรรดาผู้ที่ถูกขับไล่จากบ้านเรือนของพวกเขาโดยอยุติธรรม เพียงแต่พวกเขาได้กล่าวว่า พระผู้อภิบาลของพวกเราคืออัลลอฮ์… ถ้าหากว่าอัลลอฮ์ไม่ทรงต่อต้านการก้าวร้าวนั้นด้วยวิธีให้คนเหล่านั้นต่อสู้กับมันแล้วไซร้ แน่นอนย่อมจะมีอารามและโบสถ์คริสเตียนและโบสถ์ยิวและมัสญิดที่ถูกทำลายไปทั้งนั้น ซึ่งภายในนั้นพระนามของอัลลอฮ์จักที่เป็นที่ระลึกถึงอยู่บ่อยๆ
และเหตุใดพวกเจ้าจึงไม่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์
เพื่อบรรดาผู้ที่อ่อนแอที่ได้รับการปฏิบัติที่เลวทราม
(และผู้ถูกดขี่) เล่า?
และ
จงทำสงครามกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงประทานพระคัมภีร์ให้ แต่พวกเขากลับไม่ศรัทธาในอัลลอฮ์หรือในวันสุดท้าย และผู้ที่ไม่ห้ามสิ่งที่อัลลอฮ์และศาสดาของพระองค์ได้ห้ามไว้ และผู้ที่ไม่ยอมรับศาสนาแห่งสัจธรรมจนกว่าพวกเขาจะจ่าย ภาษี (ญิซยะฮ์) ออกจากมือของเขา และจนกว่าพวกเขาจะอ่อนน้อมถ่อมตน
ขออธิบายเรื่องภาษี ญิซยะฮ์ ไว้สักเล็กน้อย คือถ้าชนชาติใดหรือกลุ่มใดที่มิใช่มุสลิมรบแพ้มุสลิม พวกเจาจะมีทางเลือก 3 ทาง คือ 1. ยอมรับนับถือศาสนาอื่นก็ทำได้ แต่ต้องเสียภาษีที่เรียกว่า “ญิซยะฮ์” หรือภาษีรัชูปการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปกป้องดูแลของมุสลิมให้พวกเขาได้อยู่ดีมีสุขต่อไป หรือ 3. ยอมรับการลงโทษ
มุสลิมจึงจำเป็นต้องจับดาบขึ้นต่อสู้เพื่อป้องกันตัว ทั้งๆ ที่ต้องต่อสู้เพราะคำบัญชาของพระเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในจักรวาลและนอกจักรวาล ท่านศาสดาก็ยังเป็นผู้นำการต่อสู้ที่ไม่ใช้วิธีรุนแรง แม้ในสถานการณ์ที่กำลังลำบาก ท่านก็ยังคอยยับยั้งสาวกของท่านเสียจากการใช้ความรุนแรง
ในอิสลามการสู้รบหรือการทำสงครามต้องเป็นไปโดยมีระเบียบวินัยและมีธรรมะ มิใช่ให้ต่อสู้ด้วยอารมณ์ ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท หรือผลประโยชน์ส่วนตัว หลังการสงครามของอิสลามมีอยู่ดังนี้คือ :
1. การทำสงครามจะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันตัว มิใช่เพื่อรุกราน หรือก้าวร้าวฝ่ายตรงกันข้ามก่อน ดังปรากฎในอัล-กุรอานไว้อย่างชัดเจนว่า
จงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์
ต่อบรรดาผู้ที่ต่อสู้กับพวกเจ้า
แต่จงอย่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นการมุ่งร้ายก่อน
เพราะอัลลอฮ์ไม่ทรงรักผู้ก้าวร้าว
ยังมีโองการในอัลกุรอานอีกหลายโองการที่เรียกร้องให้มุสลิมให้อภัยแก่ศัตรู และให้ดำรงสันติภาพ เช่นโองการที่ว่า :
”ถ้าหากว่าพวกเขายอมรับอิสลามและทำละหมาด (การเคารพสักการะต่อพระเจ้า) และจ่ายซะกาต (เงินให้ทานอันเป็นการบังคับแก่มุสลิม) ก็จงปล่อยพวกเขาไปตามทางเถิด เพราะพระเจ้าทรงเมตตา ถ้าคนใดในหมู่ผู้ที่ยกเอาพระเจ้าของพวกเขาขึ้นเท่าเทียมกับอัลลอฮ์ (อันเป็นโทษที่หนักที่สุด) มาขอที่ลี้ภัยจากพวกเจ้าก็จงให้ที่ลี้ภัยแก่พวกเขาเถิดเพื่อว่าพวกเขาจักได้ยิน พระดำรัสของอัลลอฮ์ ครั้นแล้วก็จงปล่อย พวกเขาให้ไปถึงที่อยู่ของพวกเขาอย่างปลอดภัย จงทำดังนี้เพราะพวกเขาเป็นหมู่ชนที่ปราศจากความรู้”
อย่างไรก็ตาม การญิฮาดที่ถูกต้องย่อมมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ กฎหมายของอัล-กุรอานยืนหยัดเพื่อความประเสริฐและการรักษาไว้ซึ่งชีวิตมนุษย์ที่ซึ่งกฎเกณฑ์แห่งการให้ความเคารพและการปกป้องอย่างเข้มงวดได้ถูกวางเอาไว้ การสังหารมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้ามยกเว้นด้วยเหตุผลของความยุติธรรม และการเสียชีวิตที่ไม่ชอบธรรมทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการตอบโต้ในสายตาของพระเจ้า
และจงต่อสู้กับพวกเขาจนกว่าจะไม่มีการประหัตประหารกันอีกต่อไป และศาสนาเป็นของพระเจ้า แต่ถ้าพวกเขาเลิกต่อสู้ก็จงอย่าได้มีการมุ่งร้ายอีกต่อไป นอกจากต่อผู้กระทำผิด
2. เมื่อถึงคราวต้องต่อสู้ ชายฉกรรจ์มุสลิมผู้ไม่พิการต้องทำการต่อสู้ไม่หลีกเลี่ยงหนีไป อิสลามถือว่าเป็นหน้าที่เลยทีเดียว ดังที่ปรากฏในอัล-กุรอานว่า
ขอให้บรรดาผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ได้แลกเปลี่ยนชีวิต ปัจจุบันกับชีวิตในโลกหน้า เพราะผู้ใดก็ตามที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ไม่ว่าเขาจะถูกฆ่าหรือเอาชนะได้ก็ตาม ในที่สุดเราก็จักประทานรางวัลอันยิ่งใหญ่ให้แก่เขา แต่สิ่งใดเล่าจะมาถึงพวกเจ้าผู้มิได้ทำการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์… พวกเขาผู้มีศรัทธาย่อมต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ส่วนผู้ไร้ศรัทธาย่อมต่อสู้ในหนทางของรูปเจว็ด ดังนั้นจงต่อสู้กับเพื่อนๆ ของชัยฏอน (มารร้าย) เถิด
มีอยู่บ่อยๆ ที่ท่านได้ต่อว่าสาวกของท่านที่ไม่ยอมไปทำสงครามในยามที่จำเป็นต้องต่อสู้ท่านกล่าวว่า :
ถ้าฉันสั่งให้พวกท่านเดินทัพไปในวันที่มีอากาศร้อน พวกท่านก็พูดว่า นี่คือไฟแห่งฤดูร้อน ขอเวลาให้พวกเขาจนกว่าความร้อนจะหมดสิ้นเสียก่อนเถิด ถ้าฉันสั่งให้พวกท่านเดินทัพไปในฤดูหนาว พวกท่านก็ว่าหิมะมัดกัดเท้า ขอเวลาพวกเราจนกว่าความหนาวจะหมดสิ้นลงก่อนเถิดที่พวกท่านหนีจากความร้อนและความหนาวนี้แท้ที่จริงแล้วพวกท่านหนีจากคมดาบนั่นเอง
ท่านศาสดาเคยกล่าวไว้ด้วยว่า :
การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์หรือการตัดสินใจที่จะทำดังนั้นเป็นหน้าที่ที่มีต่อพระเจ้า เมื่อหัวหน้าของพวกท่านสั่งให้ท่านไปต่อสู้ก็จงทำตามเขาเถิด
3. ห้ามมุสลิมต่อสู้กับมุสลิมด้วยกัน เพราะอิสลามถือว่า มุสลิมทั้งโลกนี้เป็นพี่น้องกัน พี่น้องไม่ควรจะทำร้ายกันและกัน ดังโอการที่ว่า :
ถ้าหากว่าผู้มีศรัทธาสองฝ่ายเกิดต่อสู้กัน ก็จงสร้างสันติขึ้นระหว่างพวกเขา และถ้าหากว่าฝ่ายหนึ่งทำผิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงต่อสู้กับฝ่ายที่ทำผิดจนกระทั่งพวกเขากลับมาสู่คำสั่งของอัลลอฮ์ แล้วเมื่อพวกเขากลับมา ก็จงสร้างความสงบระหว่างพวกเขาอย่างยุติธรรม และจงกระทำอย่างเท่าเทียมกับ ดูกร!อัลลอฮ์ ทรงรักความเท่าเทียมกัน
การต่อสู้ระหว่างชาวพระคัมภีร์ คือ ชาวยิวคริสเตียน มุสลิมและชนชาติอื่นๆ ที่มีศรัทธาในพระคัมภีร์ก็เป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน (เพราะพระคัมภีร์ที่มีพระเจ้าเหล่านี้มาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน แม้จะทรงพระนามต่างๆ กันก็ตาม) นอกจากว่าเขาเหล่านั้นมาขัดขวางหรือทำอันตรายต่ออิสลาม
4. ท่านศาสดาสอนว่าการนำเอาพระดำรัสของพระเจ้าไปสู่ชนชาติต่างๆ นั้นเป็นหน้าที่ของมุสลิม และผู้ที่มิใช่มุสลิมมีทางเลือกคือจะรับอิสลาม จะไม่รับแต่ต้องเสียภาษีญิซยะฮ์ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องต่อสู้กัน ถ้าไม่ทำทั้งสองข้อแรกมุสลิมจะมีสิทธิ์ต่อสู้ได้ ท่านศาสดามักจะพูดกับคู่ปรปักษ์ของท่านว่าข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับท่านแล้วพระเจ้าได้ทรงนำทางให้ข้าพเจ้ามาสู่อิสลาม ถ้าท่านรับอิสลาม ท่านก็จะได้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับพวกเขา ถ้าท่านปฏิเสธท่านก็อาจจะจ่ายภาษีญิซยะฮ์ด้วยความนอบน้อม และถ้าท่านปฏิเสธอีก เราก็จะได้ต่อสู้กันอย่างเท่าเทียมกัน พระเจ้าทรงเกลียดชังผู้ทรยศ
5. อิสลามกำหนดให้ต่อสู้เฉพาะแต่กับ “ผู้ที่ทำการต่อสู้” เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เช่นเด็กๆ ผู้หญิง คนชรา ผู้พิการ ชาวไร่ชาวนาที่ทำงานอยู่ในไร่นา พระ ฯลฯ ต้องไม่ได้รับการรบกวน
อัลลอฮ์ทรงสั่งห้ามพวกเจ้ามิให้ต่อสู้กับผู้ที่มิได้ทำสงครามกับพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของเจ้า พระองค์ทรงสั่งว่าพวกเจ้าควรแสดงความเมตตากรุณาต่อพวกเขาและกระทำกับพวกเขาอย่างยุติธรรม ดูกร!อัลลอฮ์ทรงรักผู้จัดการอย่างยุติธรรม
ท่านศาสดาเองก็ได้กล่าวไว้ว่า จงไป (ทำสงคราม) ในนามแห่งพระเจ้า จงอย่าฆ่าชายชราและคนทุพพลภาพหรือเด็กๆ หรือสตรีจงอย่าคดโกงทรัพย์สินสงคราม แต่จงรวบรวมส่วนที่เป็นของท่าน และทำให้ถูกต้องและดีงามเพราะพระเจ้าทรงรักผู้ที่ทำดี
6. ในการสงครามห้ามตัดหรือโค่นต้นไม้ลง ห้ามทำลายอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ไร่นา วัดวาอาราม และห้ามฆ่าสัตว์ นอกจากเพื่อกินเป็นอาหาร
เคาะลีฟะฮ์ (กาหลิป) อุมัร (Omar) ถึงกับสั่งห้ามกองทหารของท่านเข้าไปในหมู่บ้านเพราะเกรงว่าจะไปทำลายพืชผลต่างๆ และการต่อสู้ในหมู่บ้านก็เป็นเรื่องต้องห้ามเพื่อป้องกันมิให้มันกลายเป็นสมรภูมิไป
อัล-กุรอานได้บัญญัติไว้ว่า :
โอ้พวกเจ้ามุสลิมทั้งหลาย
ไม่ว่าพวกเจ้าจะตัดต้นปาล์มอ่อนๆ เสีย
หรือว่าพวกเจ้าจะทิ้งให้มันตั้งอยู่บนรากของมันก็ตาม
ล้วนเป็นไปด้วยการอนุมัติของพระเจ้า
เพื่อว่าพระองค์จักได้ทรงปกคลุม
ผู้ก้าวร้าวที่แข็งข้อไว้ด้วยความอับอาย
เมื่อคราวที่ท่านอะบูบักร์ เคาะลีฟะฮ์ท่านที่หนึ่งต่อจากศาสดามุฮัมมัดส่งทหารมารบที่ชายแดนซีเรีย ท่านได้กล่าวปราศรัยกับทหารของท่านว่า
จงหยุดก่อนทหารทั้งหลาย เพื่อว่าฉันจะได้ให้แนวนำแก่พวกท่านในการปฏิบัติสิบประการในสนามรบ คือ จงอย่าทรยศหรือหันเหไปจากหนทางอันเที่ยงธรรม พวกท่านต้องไม่ห้ำหั่นศพ จงอย่าฆ่าสตรีหรือเด็กหรือคนชรา จงอย่าทำอันตรายต้นไม้ใบหญ้าหรือเผามันด้วยไฟโดยเฉพาะต้นไม้ที่เต็มไปด้วยผล จงอย่าฆ่าปศุสัตว์ของข้าศึกนอกจากเพื่อเอามาเป็นอาหาร บางทีพวกท่านอาจต้องผ่านผู้คนที่อุทิศชีวิตให้แก่หน้าที่ในวัดก็จงอย่าได้รบกวนพวกเขาเลย
เช่นเดียวกันในเรื่องของเชลยศึก อัล-กุรอานได้บ่งเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเราจะต้องไม่ปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างเลวทรามไม่ว่าในทางหนึ่งทางใดและเมื่อการสู้รบได้จบสิ้นลงแล้วก็ควรอนุญาตให้มีการไถ่ชีวิตหรือเชลยศึกไปเสีย
มีหะดีษ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ศาสดามุฮัมมัดได้สั่งให้ชาวมุสลิมปฏิบัติต่อเชลยศึกของพวกเขาเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง พวกท่านจะต้องให้อาหารแก่เชลยศึกเหมือนกับที่พวกท่านรับประทานเอง และให้เสื้อผ้าแก่พวกเขาเหมือนดังที่พวกท่านสวมใส่เอง และถ้าพวกท่านจะให้เขาทำงานหนัก พวกท่านก็จงช่วยเขาทำด้วย
หลักการของอิสลามได้สั่งไว้ว่าจงพยายามทำสงครามให้จบอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้ให้ความน่ากลัวของสงครามมีน้อยที่สุดให้ปล่อยตัวคนที่เป็นศัตรูของอิสลามไปหรือว่าจะไถ่ตัวก็ได้
7. ก่อนจะลงมือทำสงคราม จะต้องเตือนคู่ปฏิปักษ์ล่วงหน้าเสียก่อน และให้เวลาพวกเขาอย่างเพียงพอและให้ทางเลือกแก่พวกเขาด้วย ตามปกติท่านศาสดามุฮัมมัดจะให้เวลาฝ่ายตรงข้ามเป็นเวลาสามวัน และลงมือต่อสู้ในวันที่สี่
จะเห็นได้ว่าอิสลามได้วางหลักการของการทำสงครามไว้อย่างระมัดระวังและยุติธรรม แต่การทำสงครามหลายครั้งในปัจจุบันนี้มิได้เป็นไปตามหลักการของอิสลาม
แนวความคิดที่เกี่ยวกับการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงนั้นคือความคิดที่ว่ามนุษยชาติทั้งมวลล้วนแต่เป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกันเพราะต่างก็เป็นบุตรของอาดัมและฮาวา (อีวา) ดังที่อัล-กุรอานได้กล่าวไว้ว่า
โอ้มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย เราได้สร้างพวกเจ้ามาจากบุรุษหนึ่งและสตรีหนึ่ง และทำให้พวกเจ้ากลายเป็นเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รู้จักกันและกัน
ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ควรใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน แต่นี่มิใช่ว่ามนุษย์จะงอมืองอเท้าทำเป็นคนอ่อนแอให้ผู้อื่นมาข่มเหงรังแกได้ง่ายๆ ตรงกันข้ามมุสลิมต้องไม่อยู่เฉยๆ แต่ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหานั้น
แต่จงทำอย่างไรเล่าจึงจะเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง?
คอลิด คิชตอยนี ได้รวบรวมวิธีการไว้ดังต่อไปนี้ :
1. ใช้ความอดทน มีคำๆ หนึ่งที่สำคัญซึ่งมีกล่าวไว้บ่อยๆ ในอัล-กุรอาน คำนั้นคือคำว่าศอบร์ (ความอดทน) นี่เป็นขั้นแรกที่มุสลิมใช้เมื่อถูกทำร้ายหรือกดขี่ เช่น
อัลลอฮ์ทรงอยู่กับผู้อดทน
ผู้ใดแสดงความอดทนลากรให้อภัย นั่นคือความเด็ดขาดและกล้าหาญ
ในเรื่องนี้ท่านศาสดามุฮัมมัดได้แสดงตนเป็นตัวอย่างที่ดีมากมาตลอดชีวิตของท่าน
2. ใช้การอธิบายและเกลี้ยกล่อมเชิญชวน ดังที่มีปรากฎในกุรอานว่า :
จงเชิญชวนทุกคนมาสู่หนทางของอัลลอฮ์ ด้วยปัญญาและการสั่งสอนที่ดีและจงถกเถียงกับพวกเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุด และเมตตาปรานีที่สุด
จงเชิญชวนทุกคนมาสู่หนทางของอัลลอฮ์ ด้วยปัญญาและการสั่งสอนที่ดีและจงถกเถียงกับพวกเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุด และเมตตาปรานีที่สุด
อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งซูดาน-อัซซอดีกอัลมะฮ์ดี ได้กล่าวไว้ในคำบรรยายของเขาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมค.ศ.1986 ว่า การนำเอาลัทธิอาหรับนิยมและอิสลามเข้ามาในประเทศซูดานได้ทำไปได้โดยสันติวิธี และเขาได้สรุปไว้ว่าปัญหาต่างๆ ของซูดานและสงครามกลางเมืองในทางใต้ควรแก้ไขด้วยวิธีอธิบาย เชิญชวน และเจรจาไกล่เกลี่ยกันเท่านั้น
3. ต่อสู้ด้วยการทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งท่านศาสดาได้ใช้มาตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้เอาชนะใจสาวกและศัตรูของท่านด้วยพลังแห่งความศรัทธาของท่าน และความประพฤติอันดีงามของท่านเอง จนกระทั่งคำพูดและการกระทำของท่านได้ทิ้งความประทับใจไว้ต่อบรรดาสาวกของท่าน และภายหลังได้มีการรวบรวมคำพูดและการกระทำของท่าน (หะดีษ) ไว้เป็นตัวอย่างสอนใจคนรุ่นหลังๆ ต่อมา
4. การแข็งข้อของประชาชน เมื่อประชาชนถูกผู้ปกครองที่อธรรมกดขี่ พวกเขาก็จะรวมตัวแข็งข้อต่อผู้ปกครอง โดยมิได้ใช้อาวุธหรือความรุนแรง ด้วยการใช้วิธีแสดงการไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่งของผู้ปกครอง นักวิชาการส่วนใหญ่ของมุสลิมสนับสนุนสิทธิของประชาชนที่จะถอดถอนผู้ปกครองที่อธรรมออกไปเสีย คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ อัล-มะวัรดี (1058) ผู้ถือว่าการเบี่ยงเบนไปจากความเที่ยงธรรมไปสู่ความอธรรมของผู้ปกครองนั้นก็มี “ความไร้ศีลธรรม ความอยุติธรรม การกดขี่สิทธิและการละเลยคำบัญชาของศาสนา“
ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับความไม่รุนแรงก็คือข้อเสนอของอิมามอัล-ฆอซาลี (Al-Ahazali 1058-111) นักศาสนวิทยาผู้มีชื่อเสียงที่ว่า ประชาชนไม่ควรเชื่อฟังและทำตามผู้ปกครองจนกว่าเขาจะปกครอง ตามหลักการของกฎหมายอิสลาม (ชะริอะฮ์) การไม่เชื่อฟังพระเจ้า และการละเลยต่อความยุติธรรมย่อมทำให้ประชาชนหันเหไปจากความเชื่อฟัง แต่กระนั้นอิมามอัล-ฆอซาลีก็ยังแนะว่าการโค่นล้มผู้ปกครองที่อธรรมต้องเป็นไปในแบบไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าไม่สามารถจะปลดเขาได้ยกเว้นแต่ด้วยการใช้กำลัง ประชาชนก็มีหน้าที่ต้องเชื่อฟังเขา เพราะว่าการเชื่อฟังเช่นนั้นยังดีเสียกว่าการใช้ความรุนแรง
อิบนุตัยมิยะฮ์ (IbnTaymiyah) นักปรัชญาชาวมุสลิมก็ได้สรุปไว้เช่นเดียวกันเมื่อเขากล่าวถึงความไม่เชื่อฟังที่มีต่อผู้ปกครองที่อธรรม แต่เขาได้ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างทางเลือกสองทางคือการใช้อาวุธบังคับให้ผู้ปกครองออกไปกับการใช้วิธีไม่เชื่อฟังเท่านั้น แต่ก็มีบางสำนักคิด เช่น นิกายอิบาซิยะฮฺ (Ibaziyah) สำนักคิดคอวาริจ(Khwarij) และนิกายมุอ์ตะซิละฮ์ (Mutazilah) ที่อนุญาตให้โค่นล้มผู้ปกครองที่อธรรมได้ด้วยการใช้กำลัง
อะบูฮัยยาน อัฏ-เฏาฮิดี (Abu Hayyan al-Tawhidi) นักอักษรศาสตร์ในสมัยอับบาสิยะฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากพวกไบแซนไตน์ได้ยึดเมืองโมซุล (Mosul) และสุลฏอน (สุลต่าน) ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ ชาวเมืองจึงได้ชุมนุมกันและส่งผู้แทนไปหาอมีร (ผู้นำ) บัคเตียร์ที่เมืองกูฟะฮ์ (Kufah) และส่งคำเตือนให้แก่ท่านว่า :
ถ้าเรามีเคาะลีฟะฮ์, เจ้าชายหรือเจ้าเมืองที่ขยันขันแข็ง สิ่งต่างๆ ก็คงจะไม่ตกต่ำไปถึงห้วงเหวเช่นนี้ เจ้าชายผู้เป็นศรัทธาชน ซึ่งมีความเชื่อฟังอัลลอฮ์ ได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮ์ให้ดูแลกิจการวังของพระองค์ และใช้เวลาวันแล้ววันเล่าไปในการสั่งและห้ามสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ศาสนาอุดมสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคนทั้งใกล้และไกล มิฉะนั้นแล้วพวกเราจะไม่เชื่อฟังพระองค์
ในระยะใกล้เข้ามาชาวปาเลสไตน์ได้ทำการก่อกวนรัฐบาลตุรกีคือ อะห์มัด รอวีดเบย์ ผู้อนุญาตให้ชาวยิวอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ จนในที่สุดสุลฏอนต้องลาออกไปใน ค.ศ 1960 และใน ค.ศ.1923 ชาวปาเลสไตน์ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะต่อต้านการเข้าครองของรัฐบาลอังกฤษด้วยการปฏิเสธไม่ยอมจ่ายภาษีแก่รัฐบาล อย่างนี้เป็นต้น
5. การไม่ร่วมมือ และการบอยคอต (การคว่ำบาตร) ของประชาชน วิธีนี้มีใช้บ่อยๆ และกว้างขวางอยู่ในหมู่ชาวอาหรับ เช่น ในระยะต้นๆ ของอิสลาม เช่น พวกผู้บูชารูปเจว็ดในนครมักกะฮ์ พยายามต่อสู้กับศาสนาอิสลามโดยร่วมมือกันไม่ขายสินค้าให้แก่ผู้ถือศาสนาใหม่นี้เป็นเวลาถึงสองสามปี ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความลำบากมาก ตัวอย่างอื่นจะเห็นได้จากการบอยคอตสินค้าของอิสราเอลลาการคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านั้น เช่น การที่กลุ่มคอยมิวนิสต์อิรักบอยคอตเครื่องดื่มโคลา-โคลาในทศวรรษ 1950 การบอยคอตสินค้าและบริษัทอเมริกันในหมู่ชาวมุสลิมในประเทศไทยหลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดอัฟกานิสถานหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2001 เป็นต้น
ความไม่ร่วมมือของประชาชนมีผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่ออำนาจของผู้ปกครอง เหมือนดังที่ยืน ชาร์พ (Gene Sharp) ได้เขียนไว้ว่า
อำนาจทางการเมืองย่อมจะแตกสลายไปเมื่อประชาชนถอนการสนับสนุนและความเชื่อฟังไปจากผู้ปกครองเครื่องมืออุปกรณ์ทางทหารของผู้ปกครองอาจจะยังอยู่ครบถ้วน ทหารของเขาอาจจะยังอยู่ดี มิได้บาดเจ็บ โรงงานและระบบการขนส่งยังมีความสามารถที่จะทำการได้อย่างเต็มที่ และอาคารของรัฐบาลมิได้รับความเสียหาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เพราะความช่วยเหลือของมนุษย์ซึ่งช่วยสร้างและสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลได้ถูกถอนไป ดังนั้นอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลก็แตกกระจายไป
อัล-กุรอานได้กล่าวไว้ว่า
จงร่วมมือกันและในความเที่ยงธรรมและความศรัทธา แต่จงอย่าร่วมมือในการทำบาปและการก้าวร้าว
ความไม่ร่วมมืออาจทำได้โดยการไม่ยอมทำงานของผู้นั้น ชาวชีอะฮ์ได้สร้างความไม่ร่วมมือกับรัฐบาลออตโตมานด้วยการตั้งรัฐบาลคู่ขนานขึ้น มีศาล มีโรงเรียน เก็บภาษี และบริหารบริการสวัสดิการของตนเอง เมื่อรัฐบาลออตโตมานพยายามจะเกณฑ์พวกเขาไปเป็นทหาร พวกเขาก็ถึงกับตอบโต้ด้วยการกบฏที่ใช้อาวุธ การปฏิเสธเช่นนี้เกิดจากจิตวิทยาอย่างหนึ่งคือความระแวงอย่างลึกซึ้งในรัฐบาลที่อธรรม
6. การสไตร๊ค์และการสะแดงพลังประท้วงเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วมักจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการวางแผนหรือผู้นำ ในโลกปัจจุบันก็มีการประท้วงอยู่มากมาย ที่ได้รับผลสำเร็จมากที่สุดและไม่มีความรุนแรงเลยคือการเดินขบวนของชาวอิรัก ใน ค.ศ. 1946 เพื่อประท้วงการทำสัญญาปอร์ตสเมาธ์ระหว่างอังกฤษกับอิรัก จนในที่สุดรัฐบาลในขณะนั้นต้องลาออกและสนธิสัญญานั้นก็ถูกยกเลิกไป ในตอนประท้วงหนุ่มสาวชาวอิรักออกไปอยู่เต็มถนน อย่างมีระเบียบวินัย ท้าทายกองกำลังตำรวจที่ถืออาวุธด้วยความอดทนอย่างสูง พวกเขาต้านทานการทำร้ายและสละชีวิตให้อย่างกล้าหาญ
7. การอพยพออกไป เป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงที่เก่าแก่ที่สุดของอิสลาม นั่นคือ การอพยพของชาวมุสลิมและท่านศาสดาจากนครมักกะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮ์เพื่อหลบเลี่ยงจากการกลั่นแกล้งของผู้ต่อต้านศาสนาอิสลาม การอพยพครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอิสลามจนกระทั่งชาวอาหรับยกให้เป็นการตั้งต้นของศักราชอิสลาม (ฮิจญ์เราะฮ์ศักราช) นี่เป็นการต่อสู้แบบสันติอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในกุรอานว่า
บรรดาผู้ที่อพยพไปในหนทางแห่งอัลลอฮ์จักได้พบว่าในโลกนี้มีที่ลี้ภัยอยู่มากมาย ทั้งกว้างขวางและใหญ่โตไพศาล หากพวกเขาสิ้นชีวิตในขณะที่ลี้ภัยจากบ้านเรือนเพื่ออัลลอฮ์และศาสดาของพระองค์ รางวัลของพวกเขาย่อมได้มาจากอัลลอฮ์อย่างแน่นอน
น่าเสียดายที่การอพยพของมุสลิมมักจะเป็นการกระทำเฉพาะตัวเท่านั้นไม่ได้ทำเป็นหมู่คณะ ไม่มีการจัดองค์การและไม่มีทิศทางการเมืองที่ชัดเจน เท่าที่เห็นก็มีแต่การอพยพของสมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ในอิรัก ซึ่งทางพรรคได้เรียกร้องให้ออกจากประเทศไปตั้งกลุ่มกันใหม่ในยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม การอพยพไปก็เป็นอาวุธสองคม เพราะบางครั้งมันนำมาซึ่งการสูญเสียของผู้อพยพ อย่างเช่น ชาวปาเลสไตน์ที่อพยพจากบ้านเรือนเมื่อชาวอิสราเอลเข้ายึดครอง แล้วไม่สามารถกลับไปได้ จึงต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สิน บ้านเรือน ที่ดิน งานการ และสิทธิต่างๆ ในกรณีนี้มีบางคนกล่าวว่าใช้ความอดทนจะดีกว่า แต่ในท่ามกลางการปฏิบัติอันร้ายกาจของชาวยิวเท่านั้น ความอดทนคงจะต้องแลกกับชีวิตเสียเป็นแน่
8. ใช้วิธีทางการทูต การเผยแพร่และโฆษณา นี่เป็นวิธีไม่ใช้ความรุนแรงอีกอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์อาหรับได้มีการใช้การพูดปราศรัย และบทกวีเพื่อประโยชน์ทางศาสนาและการเมืองอยู่ตลอดเวลา การเทศน์ สั่งสอนในมัสญิดต่างๆ ก็มักจะถูกใช้ไปเพื่อผลทางการเมือง และสังคม มัสญิดอย่างเช่นฮัยดัรคานาแห่งกรุงแบกแดด มัสญิดอัซฮัรในกรุงไคโร และมัสญิดแห่งหินผา (Mosque of the Rock) ในนครเยรูซาเล็มได้กลายเป็นเวทีสำหรับการต่อสู้เพื่อปลดปล่อย หลังจากการปฏิวัติตามแนวอิสลามในอิหร่าน มัสญิดใหญ่แห่งเตหะรานก็กลายเป็นเวทีปราศรัยทางการเมืองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะในศาสนาอิสลามนั้น ศาสนามิได้แยกจากการเมือง ศาสนาต้องรวมอยู่กับการเมือง และการเมืองต้องมีศาสนาคือมีธรรมะ มัสญิดของชาวมุสลิมจึงไม่ใช่สถานที่ทำการสักการะต่อพระเจ้าแต่อย่างเดียว แต่เป็นที่เรียนที่สอน ที่ชุมนุมถกเถียงปัญหาทางศาสนาทางสังคมและทางการเมืองด้วย เป็นที่รวมของสติและปัญญา การชุมนุมละหมาดวันศุกร์กลายเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ทางการเมืองทั่วโลกอสิลาม การไปทำฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ก็เป็นการไปชุมนุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความคิดแพร่หลายการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และปลุกเร้าความสำนึกของชาวมุสลิมทั่วโลก
เหล่านี้คือวิธีการต่อสู้แบบสันติ แบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งที่จริงนั้น การต่อสู้แบบไม่รุนแรงมิใช่ความเฉื่อยชาเฉยเมยอย่างที่อาจมีผู้เข้าใจผิด ผู้ที่จะทำสงครามหรือการต่อสู้ชนิดนี้จะต้องเป็นผู้มีศักยภาพในเรื่องความไม่เชื่อฟัง มีระเบียบวินัย ห่วงใยส่วนรวม สามารถลงมือกระทำได้ มีความอดทนและเต็มใจที่จะทนทุกข์เพราะงานที่กระทำอยู่และมีความคิดในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ตัวอย่างการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงของมุสลิม
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการต่อสู้แบบสันติที่อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านได้แลเห็นภาพพจน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอิสลามได้
การกู้เอกราชของอียิปต์ ค.ศ. 1919-1922
อังกฤษเข้าครองอียิปต์ในปี 1882 ตอนแรกอังกฤษเพียงแต่เข้าไปบริหารกิจการพื้นฐานในอียิปต์และได้ตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นในปี 1913 แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษได้ประกาศให้อียิปต์เป็นรัฐในอาณัติของอังกฤษและได้ประกาศกฎอัยการศึก อังกฤษได้สัญญากับนายกรัฐมนตรีรุชดี ปาชาห์ว่า ถ้าอียิปต์ร่วมมือกับอังกฤษดี อียิปต์ก็จะได้ปกครองตนเองเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลง
ทั้งๆ ที่อียิปต์มิได้เกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรง แต่ชาวอียิปต์จำนวนมากก็ไม่พอใจเพราะชาวอียิปต์กว่า 1.5 ล้านคนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอยู่ในกองแรงงาน แถมยังมีการเกณฑ์อาหาร ปศุสัตว์ และหญ้าแห้งจากอียิปต์ด้วย การคมนาคมก็ถูกตรวจค้นอย่างเข้มงวด จึงได้มีการประท้วง รวมทั้งการบอยคอตโดยนักศึกษากฎหมายขึ้นหลายต่อหลายครั้งในปี 1916
ต่อมาในปี 1918 สองวันหลังจากเซ็นสัญญาวันหยุดพักรบชั่วคราว ฝ่ายประท้วงได้ขอร้องอังกฤษให้ส่งคณะผู้แทนไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่อียิปต์ แต่เจ้าหน้าที่อังกฤษในอียิปต์ก็ปฏิเสธการขอร้องนี้ นายชะอฺด์ชัฆลุล อดีตสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายประท้วงจึงได้จัดคณะผู้แทนถาวร ที่เรียกว่าอัลวาฟด์อัลมิสรี ไปแทน โดยมีลายเซ็นของชาวอียิปต์สองล้านคนไว้วางใจให้คณะผู้แทนนี้เจรจาเรื่องอนาคตของอียิปต์กับอังกฤษ และเรียกร้องขอเอกราชโดยสันติวิธีด้วยหนทางทางกฎหมาย แต่รัฐบาลอังกฤษในอียิปต์ก็ไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้ เป็นไปเช่นนี้หลายครั้งหลายหนจึงได้สั่งจับนายชัฆลุลกับผู้นำพรรค วาฟด์อีกสองคนในวันที่ 8 มีนาคม 1919 แล้วเนรเทศคนทั้งสามไปยังเกาะมอลต้า ก่อให้เกิดการเดินขบวนประท้วงใหญ่ในกรุงไคโร อเล็กซานเดรียและเมืองอื่นๆ โดยนักศึกษา คนงานขนส่ง ผู้พิพากษาและนักกฎหมาย กองทหารอังกฤษก็โจมตีผู้ประท้วงอย่างทารุณและฆ่าคนไปหลายคน
ทางอังกฤษได้ส่งคนมาจัดการสถานการณ์ในอียิปต์ ปล่อยตัวนายชัฆลุลและพรรคพวกซึ่งรีบเดินทางไปประชุมสันติภาพในกรุงปารีส ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอียิปต์ในปีเดียวกัน โดยมีรุชดี ปาชาห์เป็นหัวหน้า แต่ที่ประชุมในปารีสกลับรับรองรัฐบาลอังกฤษให้ปกครองอียิปต์แบบรัฐในอาณัติ จึงได้เกิดการสไตร๊ค์และเดินขบวนประท้วงขึ้นตลอดเดือนเมษายน การสไตร๊ค์ถูกใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ส่วนใหญ่ในเมืองต่างๆ สตรีหลายคนก็ได้เข้าร่วมในการประท้วงด้วย ข้าราชการที่เป็นชาวอียิปต์ก็หยุดงานและตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นเรียกร้องให้เลิกกฎอัยการศึกเสีย รัฐบาลของอังกฤษในอียิปต์จึงออกประกาศปลดข้าราชการเหล่านั้นออกจากงานถ้ายังไม่ยอดหยุดสไตร๊ค์ การสไตร๊ค์ของข้าราชการจึงต้องยุติลงด้วยการขู่นี้ แล้วต่อมาไม่ช้าการสไตร๊ค์ของกลุ่มอื่นๆ ก็พลอยหยุดไปด้วย รุชดี ปาชาห์ลาออกจากตำแหน่ง
หนึ่งเดือนต่อมา อังกฤษได้ช่วยตั้งรัฐบาลคณะใหม่ขึ้นโดยมีมุฮัมมัด ชาอีด ปาชาห์ เป็นหัวหน้า และได้ส่งคณะกรรมาธิการมาสืบสวนความขัดแย้งในอียิปต์ พวกวาฟด์ได้เป็นหัวหอกทำการบอยคอตคณะกรรมการนี้ทางสังคมและการเมือง คณะกรรมาธิการอยู่ในอียิปต์เป็นเวลาสี่เดือน โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวอียิปต์ในทางใดๆ เลย คณะกรรมาธิการมิลเนอร์จึงต้องออกจากอียิปต์ไปด้วยความมั่นใจว่ากฎอัยการศึกนั้นไม่เหมาะสมที่จะใช้ปกครองอียิปต์อีกต่อไป จึงเสมอให้รัฐบาลอังกฤษละทิ้งโครงสร้างการปกครองแบบอาณัติเสียและหาวิธีปกครองอียิปต์ในแบบอื่น ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1922 รัฐบาลอังกฤษในอียิปต์จึงประกาศให้อียิปต์เป็นรัฐเอกราชโดยมีเงื่อนไขบางอย่างคืออังกฤษมีสิทธิ์ที่จะคงกองกำลังทหารไว้ในอียิปต์เพื่อปกป้องผลประโยชน์จากการคมนาคมและเศรษฐกิจ มีสิทธิ์ที่จะดูแลการทหารของอียิปต์และมีสิทธิ์ที่จะควบคุมซูดาน เป็นอันว่าอียิปต์ประสบความสำเร็จได้รับความเอกราชโดยอาศัยการต่อสู้แบบสันติวิธีด้วยการบอยคอต การสไตร๊ค์ และการไม่ร่วมมือกับนโยบายของอังกฤษ
การสไตร๊ค์ทั่วไปในปาเลสไตน์ ปี 1936
ประเทศปาเลสไตน์เกิดขึ้นในฐานะองค์การทางการเมืองเมื่อมีการตกลงสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยให้อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษจนกระทั่ง “ปาเลสไตน์พร้อมที่จะปกครองตนเอง” ต่อมาในปี 1917อังกฤษได้ออกคำประกาศบัลโฟร์ยอมให้ชาวยิวมาตั้งประเทศยิวอยู่ในปาเลสไตน์ ชาวอาหรับในปาเลสไตน์พากันคัดค้านการปกครองแบบอาณัติของอังกฤษและการอพยพของชาวยิวเข้ามาในปาเลสไตน์ จนปะทุออกมาเป็นการสไตร๊ค์ทั่วไปเมื่อปี 1936 เป็นการเริ่มต้นของการแข็งข้อเป็นเวลาสามปีของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง
การประท้วงของนักชาตินิยมอาหรับครั้งนี้ประกอบด้วยข้อเรียกร้องหลายข้อ คือ ให้เปลี่ยนปาเลสไตน์เป็นรัฐอาหรับที่มีอำนาจปกครองตนเอง การยุติลของการปกครองแบบอาณัติของอังกฤษและเลิกแผนที่จะจัดตั้งมาตุภูมิของชาวยิวในปาเลสไตน์ ยุติการอพยพเข้ามาของชาวยิวและการซื้อที่ดินของอาหรับโดยชาวยิว ในทศวรรษ 1920 การประท้วงเป็นไปในรูปของการเขียนคำร้องและส่งคณะผู้แทนไปยังรัฐบาลอังกฤษ การเดินขบวน และการประท้วงของมวลชน (แต่มีการกระทำรุนแรงกระจัดกระจายอยู่บ้าง) ในปี 1933 คณะกรรมการระดับสูงของอาหรับได้ลงคะแนนให้มีการบอยคอตทางสังคมต่อการต้อนรับของรัฐบาล การบอยคอตทางการเมืองต่อคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาล และการบอยคอตทางเศรษฐกิจต่อสินค้าของอังกฤษและของชาวยิวไซออนนิสต์ คณะกรรมการได้เรียกร้องให้มีการสไตร๊ค์ทั่วไปหนึ่งวันในวันที่ 13 กันยายนและในวันที่ 13 ตุลาคม ก็มีการสำแดงพลังประท้วง แต่การต่อต้านครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในปี 1936 เพราะมีการเติมเชื้อด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การอพยพเข้ามามากขึ้นของชาวยิว การแสวงหาที่ดินของชาวยิวมากขึ้น และการที่ชาวยิวปฏิเสธไม่ยอมรับชาวอาหรับเข้าทำงาน ในเดือนเมษายน 1936 คณะกรรมการแห่งชาติของอาหรับจึงเรียกร้องให้ทำการสไตร๊ค์ทั่วไปทั่วประเทศ
การสไตร๊ค์เริ่มขึ้นในวันที่ 20 เมษายน ในเมืองนาบลัส (Nablus) และญัฟฟา (Jaffa) ก่อนแล้วจึงกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ด้วย อีกห้าวัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงของอาหรับขึ้นเป็นศูนย์จัดการกลางชี้นำการสไตร๊ค์ทั่วไปใน๘ระที่คณะกรรมการแห่งชาติจัดการสไตร๊ค์ในระดับท้องถิ่นขึ้นมา ในวันที่ 7 พฤษภาคม คณะกรรมการระดับสูงได้เรียกร้องให้ทำการรณรงค์การไม่เชื่อฟังของประชาชน รวมทั้งทำการสไตร๊ค์ทั้วไปต่อไปด้วย รวมทั้งการต่อต้านการเสียภาษีและการหยุดงานของเจ้าหน้าที่เทศบาล ธุรกิจและการขนส่งทั้งหมดของอาหรับจึงหยุดนิ่ง แต่ข้าราชการไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะเกรงว่าชาวยิวจะเข้าไปทำงานแทนที่ตน จึงสละเงินเดือนร้อยละ 10 เพื่อช่วยในการสไตร๊ค์
แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษออกประกาศเพิ่มโควตาชาวยิวอพยพขึ้นไปอีกจึงได้เกิดมีการต่อต้านแบบรุนแรงเริ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลอังกฤษแก้ด้วยการเข้าค้นตามหมู่บ้านทำลายบางส่วนของหมู่บ้าน และจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องสอบสวน จึงเกิดการสงครามแบบจรยุทธขึ้นโดยความช่วยเหลือของหัวหน้าหน่วยจรยุทธของซีเรีย ส่วนการสไตร๊ค์ก็ยังดำเนินต่อไป
ต่อมาสำนักงานอาณานิคมอังกฤษได้ประกาศกฎอัยการศึกและใช้วิธีปราบปรามการต่อสู้แบบจรยุทธของชาวปาเลสไตน์ ทหารอังกฤษถูกส่งเข้ามาในปาเลสไตน์มากขึ้นเป็นจำนวนทั้งหมดสองหมื่นคน พวกผู้นำชาวอาหรับเกรงว่าการสไตร็ค์ต่อไปจะเป็นผลร้ายต่อการผลิต คณะกรรมการระดับสูงจึงขอร้องให้บรรดาประมุขของประเทศอาหรับยุติการสไตร๊ค์เสีย ผู้นำประเทศอิรัก ซาอุดีอาระเบีย ทรานสจอร์แดนและเยเมนใต้ได้สัญญว่าจะให้ความช่วยเหลือต่อไปและได้กดดันให้พวกผู้สไตร๊ค์ยุติการรณรงค์เสีย
การสไตร๊ค์และการบอยคอตนี้มีผลกระทบต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวยิว คือการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของยิวลดลงร้อยละ 10 ปัญหาเรื่องการขนส่งทำความเสียหายให้แก่การค้าและการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ของยิวก็ช้าลงไป การสไตร๊ค์นี้ยังแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ด้านการเมืองของชาวอาหรับในปาเลสไตน์ด้วย จนอัวกฤษในปาเลสไตน์จำต้องยอมรับลัทธิชาตินิยมอาหรับในปาเลสไตน์และยอมละเลิกการปกครองแบบอาณัติและแผนการแบ่งแยกประเทศ อย่างไรก็ตาม การสไตร็ค์เป็นเวลาหกเดือนนี้ก็ไม่อาจยุติการอพยพเข้ามาของชาวยิวได้ตราบใดที่ประเทศมหาอำนาจคอยช่วยเหลือในเรื่องนั้น