jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ยูเครนเสี่ยงเกิดสงครามแม้เจรจากันแล้ว - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ยูเครนเสี่ยงเกิดสงครามแม้เจรจากันแล้ว

สบาย สบาย สไตล์เกษม

เกษม อัชฌาสัย

ยูเครนเสี่ยงเกิดสงครามแม้เจรจากันแล้ว

หวาดเสียวมากครับ ที่ร่ำๆ จะเกิดเหตุการณ์กองทัพรัสเซียบุกเข้ายึดยูเครน หนึ่งในชาติยุโรปตะวันออกติดทะเลดำอยู่ระหว่างโปแลนด์(ด้านตะวันตก)กับรัสเซีย(ด้านตะวันออก)

เหตุผลง่ายๆ ที่พยายามจะบุกยึด เพราะยูเครนเคยเป็นดินแดนของสหภาพโซเวียตรัสเซียมาก่อน เป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง

แต่แยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราชในปี ๑๙๙๑ เพราะความอ่อนแอของอดีตประธานาธิบดี”มิคาอิล กอร์บาชอฟ”แห่งสหภาพโซเวียต

เดชะบุญที่ประธานาธิบดีสหรัฐ”โจ ไบเดน”(ในฐานะ”หัวเรือใหญ่”ของชาติตะวันตก)ไหวทัน ขอเปิดเจรจาสองต่อสองกับประธานาธิบดีรัสเซีย”วลาดิมีร์ ปูติน”ผ่าน”วีดิโอ คอล”หมายสกัดทัพเอาไว้ก่อน เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคมที่ผ่านมา โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบกันสองต่อสองที่ไหน ก็เลยยับยั้งการบุกเอาไว้ได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

นั่นคือที่มาของคำพูดของ”ไบเดน”ที่ว่า “อย่านะเว้ย ที่ไปชุมนุมกำลังพลเตรียมบุกน่ะ ไม่งั้นเจอมาตรการต่อต้านอย่างรุนแรงแน่ๆ รวมทั้งมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจด้วย”

และก็นำมาซึ่งคำพูดของ”ปูติน”ที่ว่า “จะไม่บุกยูเครน”แต่ก็แก้ตัวว่า ที่ต้องระดมพลเป็นจำนวนมากมายมหาศาล(ตัวเลขสหรัฐระบุว่ามีถึง ๑๗๕,๐๐๐ นาย)นั้น ก็เพราะรัฐบาลยูเครนแสดงพฤติกรรมยั่วยุอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่”นาโต้”ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออก แถมขนอาวุธเฉพาะประเภทที่ใช้ในการรุกรบ เข้ามาคุกคาม ประชิดใกล้ดินแดนรัสเซียมากขึ้น

“นาโต้”คือ”สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ”เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลต่างๆ ๓๐ ประเทศที่ก่อตั้งขึ้นมา ตั้งแต่ปี ๑๙๔๙ เพื่อป้องกันการรุกรานของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นชาติคอมมิวนิสต์สมัยโน้น มาสมัยนี้แม้คอมมิวนิสต์กลายพันธุ์จากสหภาพโซเวียตไปเป็นรัสเซียแล้ว แต่”นาโต้”ซึ่งมีสหรัฐเป็นหัวหน้า ก็ยังคงถือว่ารัสเซียนั้นเป็นศัตรูอยู่

ถามว่า การเจรจาครั้งนี้ จะสามารถหยุดยั้งการคุกคามยูเครนของรัสเซียได้จริงหรือ

ตอบว่า ยากที่จะเชื่อได้อย่างสนิทใจ

เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่”ปูติน”รับไปจากการเจรจา ว่ามีอะไรบ้างและจะส่งสัญญานอะไรออกมาจากนี้ไป ในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว

ที่ต้องไม่มองข้ามคือ ความน่ากลัวของสถานการณ์ที่ตึงเครียด โดยเฉพาะขนาดและธรรมชาติของการสะสมกำลังทหารรัสเซียใกล้พรมแดนยูเครน ซึ่งไม่ธรรมดาเลย

ย้อนกลับไปดูการประเมินของซีไอเอ ซึ่งระบุชัดๆว่า รัฐบาลเครมลินเตรียมการรบรุกเอาไว้หลายแนว โดยกำหนดเวลา เอาไว้ว่า อย่างน้อยที่สุดก็ราวต้นปีหน้า (๒๐๒๒)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าใครก็ต้องห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เมื่อถึงเวลา เพราะกำลังรัสเซียที่ชุมพลกันอย่างมหาศาลนั้น ก็เพื่อ”การยึดครอง”ดินแดน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเจรจาสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและรัสเซียครั้งแรกนี้ น่าจะมีผลต่อไปอย่างไร

มองอย่างกว้างๆ น่าจะส่งผลสามประการคือ

๑ รัสเซียยอมอ่อนข้อให้ หากต้องเผชิญกับการคุกคามที่เกิดจากการการลงโทษทางเศรษฐกิจของตะวันตกพร้อมๆ กัน

๒ เริ่มการเจรจาทางการทูตใหม่ เพื่อเบี่ยงเบนความขัดแย้ง

๓ เมื่อรัสเซียตัดสินใจจะทำ(สงคราม)แล้ว ก็ต้องทำ

เป็นไปได้ว่า ในที่สุด”ปูติน”ก็ตัดสินใจบุก เพื่อบรรลุเป้าหมายคือการครอบครองยูเครน

เป็นไปได้ว่า”ไบเดน”ตระหนักรู้ถึงความอ่อนแอของตนเอง โดยเฉพาะจากการคุกคามของ “โควิด 19”

บางทีช่วงนี้เอง คือโอกาสที่เหมาะสมที่”ปูติน”จะสั่งบุกยูเครน

มาลองพิเคราะห์ในแง่ที่ว่า “ตัดสินใจทำแล้วก็ต้องทำ”ซึ่งหมายถึงการสั่งบุกเข้ายึดยูเครน

จะพบว่า รัสเซียเตรียมการใหญ่ เตรียมตัวพร้อม ในด้านการทหาร ไม่ว่าจะสั่งบุกหรือไม่ก็ตาม

รูปแบบในการบุกอาจจะมีหลากหลาย ไม่ใช่แค่เพียงแค่การรุกใหญ่เท่านั้น อาจเน้นให้ความสำคัญการรบรุกทางด้านพรมแดนตะวันออกมากที่สุด เป้าหมายเดียว อาจทำให้กองทัพยูเครนทุ่มเทต่อสู้ป้องกันจนพ่ายแพ้

แต่ต้องไม่ลืมว่า กองทัพยูเครนมีสมรรถภาพดีขึ้นแล้ว ด้วยอาวุธที่ได้จากตะวันตกและมีการผ่านการฝึกที่ทันสมัยมาแต่ปี ๒๐๑๕

เพราะเช่นนั้น การสู้รบจะดุเดือดมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจรจากันไปแล้วระหว่งสองผู้นำ ถ้าจะว่ากันถึงวิธีการ ก็ต้องมีทีมงานดำเนินการกันต่อไป ว่าจะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงสงครามได้ไหมและอย่างไร

ใครจะเชื่อการวิเคราะห์นี้หรือไม่ โปรดใช้วิจารณญานให้ดีๆ ครับ

เพราะในข้อใหญ่ใจความแล้ว ผมคัดลอกรายงานของสำนักข่าวบีบีซี มาเต็มๆ เนื่องด้วยไม่มีสติปัญญาออกไปหาข่าวเอง

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *