jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(5) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(5)

ความเจริญและความเสื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ(5)

โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเจริญและความเสื่อม
ประเทศต่างๆในโลกอาจมีความเจริญในบางด้าน และมีความเสื่อมถอยในบางด้าน ในปัจจุบัน ประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนจีนยังน้อยกว่าสหรัฐอเมริกามาก อเมริกาถูกจัดว่า เป็นประเทศพัฒนาแล้ว(developed country) ประเทศจีนแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญเป็นอันดับสองรองจากอเมริกา แต่จนถึงปัจจุบันจีนก็ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา(developing country) มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวปานกลาง ในบทความชุด”ความเจริญและความเสื่อม ของเศรษฐกิจจีน: จากอดีตถึงปัจจุบัน” เราได้เห็นว่าในสมัยโบราณจีนมีความเจริญหลายด้านเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก แต่หลังจากต้นของราชวงศ์ หมิง(明) หรือประมาณ 600 ปีก่อน ความเจริญของประเทศจีนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเสื่อมถอยลงไปมาก เริ่มตั้งแต่สงครามฝิ่นในปีค.ศ. 1940 สมัยราชวงศ์ชิง(清) จีนเริ่มถูกต่างชาติรุกรานและไม่สามารถตอบโต้ได้ เมื่อถึงปลายราชวงศ์ จีนมีสภาพคล้ายประเทศกึ่งเมืองขึ้น หลังการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลราชวงศ์ ชิง โดย ดร.ซุนยัดเซน(孙中山) ในปีค.ศ. 1912 จีนประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นอย่างมาก ต่อเนื่องนานนับสิบปี จนกระทั่งมีการเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นสังคมนิยม ในปีค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์ รวบอำนาจ กครองประเทศได้เบ็ดเสร็จ แต่เศรษฐกิจจีนยังมีการพัฒนาน้อย ประชาชนมีความยากจน ประเทศยังไม่พัฒนาและล้าหลังมาก จนกระทั่งค.ศ.1978 ที่มีการประกาศนโยบายเปิดประเทศ และเริ่มปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจเทศจีนมีการพัฒนาไปมาก จนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ในสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนจีนมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นมาก แม้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่หลากหลาย แต่โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกา ที่มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในปีค.ศ. 1776 จนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง แต่กลับต้องประสบความเสื่อมถอยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองหลายประการ รวมทั้งมีนโยบายต่างประเทศที่สร้างความวุ่นวายแก่ประเทศต่างๆทั่วโลก นโยบายต่างประเทศที่เห็นแก่ตัว หวังเฉพาะผลประโยชน์ระยะสั้น แต่กลับสร้างความเสียหายในระยะยาวนี้ อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้ประเทศเกิดความความเสื่อมถอยลงในภายภาคหน้า สภาพเศรษฐกิจลักษณะใด จึงจะถือได้ว่า มีการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ และประเทศมีความเจริญ? โดยทั่วไป ถ้าเศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีภาวะยากจนและไม่อดอยาก มีการกระจายรายได้และทรัพย์สินที่ไม่เหลื่อมล้ำจนเกินไป มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจในภาคต่างๆเจริญก้าวหน้า มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีสูง นำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้ มีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างพร้อม สังคมมีความสามัคคีปรองดอง ประชาชนกลุ่มต่างๆอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีระบบการเมืองที่ดี มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม สามารถเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมขึ้นมาบริหารประเทศได้ ถือได้ว่า ประเทศนั้นประสบผลสำเร็จในการพัฒนา ในทางเศรษฐศาสตร์ มีศัพท์สองคำที่ใช้กันบ่อยคือ: “เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”(economic growth) และ”พัฒาเศรษฐกิจ”(economic development)

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่การพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆมีความเจริญก้าวหน้าจากการมีนโยบายเศรษฐกิจที่ดี และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลของการพัฒนาทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ แตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีอัตราเจริญเติบโตเพียงชั่วคราวในระยะสั้น การทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวระยะสั้นนั้น ทำได้ไม่ยากนัก เช่น อาจเกิดจากการทุ่มเทงบประมาณหรือทรัพยากรจำนวนมาก เพื่อนำมาผลิตสินค้า หรือสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ทำให้มีการลงทุนและการจ้างงานมาก แม้การกระทำเช่นนี้ มีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่อาจเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า เพราะต้องเสียต้นทุนสูง และมีการเจริญเติบโตที่ไม่ยังยืน แต่การพัฒนาที่ดี ต้องมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องได้มาจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี หรือรู้จักนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องมีนโยบายการบริหารที่ดี รู้จักนำความรู้หรือเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น ขนาดของเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การสร้างอัตราการขยายตัวที่สิ้นเปลืองทรัพยากรเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตเพียงชั่วคราว แต่สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว สาเหตุของความเจริญหรือความเสื่อมถอยของประเทศคืออะไร ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนานำไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองมีอะไรบ้าง และในทางตรงข้ามความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศเกิดจากอะไร? การศึกษาประสบการณ์การพัฒนาของประเทศอื่นอาจมีประโยชน์บ้าง แต่การเลียนแบบนโยบายของประเทศอื่น ควรมีการพิจารณาถึงสภาพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ภายนอกประเทศ แล้วจึงนำแบบอย่างโยบายนั้นมาปรับใช้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อการพัฒนาประสบอุปสรรค หรือเมื่อสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไป นอกจากสิ่งที่นอกเหนือความคาดหมาย เช่น ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง หรือศึกสงคราม ปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้เกิดความเจริญและความเสื่อมของประเทศมีอยู่หลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและสิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ เช่นโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโครงสร้างสถาบัน การพัฒนาเทคโนโลยี และกำลังคน ตลอดจนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในด้านอื่นๆ ซึ่งกล่าวไว้บ้างแล้วในบทความเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว” เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการพัฒนาคือประเทศมีความมั่นคง มีเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายและนำมาบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว ปัจจัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ตั้งและขนาดของประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร อาจเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศที่ไม่มีความสงบสุขย่อมไม่สามารถพัฒนาได้ดี ความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากเศรษฐกิจตกต่ำ มีเงินเฟ้อหรือการว่างงานสูง มีความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้ ประชาชนกลุ่มต่างๆมีความขัดแย้งกันมาก สังคมแตกแยก อาชญากรรมมีระดับสูง นักการเมืองและข้าราชการขาดคุณธรรม หรือไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ การพัฒนาประเทศย่อมมีอุปสรรค รัฐบาลมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดกฏหมายและกฎระเบียบควบคุมดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเจริญเติบโตและการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ส่งเสริมการแข่งขัน ขจัดการผูกขาดทางธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกำลังคน สร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นแต่ไม่มีการผลิตในภาคเอกชน ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ปกป้องรักษาความมั่นคงของประเทศ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างประชาชน การศึกษาและสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นธรรม นักการเมืองและข้าราชการสามารถปฎิบัติหน้าที่การบริหารประเทศได้ดี ไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และทำงานโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ เหตุใดประเทศจึงเสื่อมถอย ล้มละลาย และล่มสลายไปในที่สุด

จากการศึกษาประวัติศาสตร์โลก พบว่า การล่มสลายของจักรวรรดิ์ ประเทศหรือราชวงศ์ ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมภายใน แม้ในเวลาต่อมา การล่มสลายหรือการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์อาจเกิดจากการรุกรานของต่างประเทศหรือชนต่างเผ่า แต่ถ้าภายในประเทศมีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถทัดทานการรุกรานจากภายนอกได้ ความเสื่อมถอยจากภายในที่สำคัญคือ ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการบริหารเศรษฐกิจ หรือมีวิวัฒนาการที่ไม่พึงปรารถนาในภาคเศรษฐกิจสังคมและการเมือง เช่น โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในทางไม่ดี ความสามารถในการแข่งขันลดลงมาก มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชน แต่ผู้บริหารประเทศไม่รับรู้ หรือไม่เห็นปัญหา และไม่มีแนวทางใดๆในการแก้ปัญหา เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไม่ดี เมื่อประสบกับการรุกรานจากภายนอก ก็ไม่สามารถป้องกันได้ จนในที่สุด ต้องล่มสลาย หรือต้องเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองประเทศ ในประวัติศาสตร์โลก จักรวรรดิโรมันมีความเข้มแข็ง มีความเจริญเป็นเวลาหลายร้อยปี มีอาณาเขตที่กว้างขวาง แต่ในที่สุด ต้องล่มสลายลงในปีค.ศ. 476 เมื่อเผชิญกับการรุกรานของชาวเยอรมันและชนเผ่าอื่น การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันมีเหตุสะสมมานานเป็นร้อยปีเศรษฐกิจเสื่อมถอยลงมาก จากความล้มเหลวในการพัฒนาเทคโนโลยี จักรวรรดิโรมันเมื่อได้รับชัยชนะในการทำสงคราม นอกจากยึดครองดินแดนและทรัพย์สินแล้ว ยังจับเชลยศึกมาเป็นทาส อาณาจักรโรมัน มีทาสเป็นจำนวนมาก ทาสเหล่านี้ทำงานแทนชาวโรมัน โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ในช่วงหลังๆ ทหารและพลเรือนโรมันไม่ต้องทำงานหนัก และแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนผู้บริหารประเทศ ก็ไม่มีแรงจูงใจในการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี หรือปรับปรุงวิธีการผลิต การมีทาสจำนวนมาก ยังทำให้ขนาดของเศรษฐกิจภายในประเทศ เล็กลง เนื่องจากคนจำนวนมากไม่มีอำนาจซื้อ กองทัพโรมัน ซึ่งเคยมีความแข็งแกร่ง สามารถยึดพื้นที่ ทรัพย์สมบัติ และแรงงานทาส จากประเทศแพ้สงครามได้เป็นจำนวนมาก ได้กลายเป็นกาฝากของสังคม รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้บริหารประเทศ มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ชนชั้นปกครองประเทศมีความเป็นอยู่ฟุ่มเฟือย แม้จะขาดแคลนงบประมาณ แต่ก็ไม่สามารถลดขนาดของรัฐบาลที่อุ้ยอ้ายลงได้ การใช้จ่ายที่มีมากขึ้นขณะที่ผลผลิตจากระบบเศรษฐกิจลดลง มีผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ทหารโรมันก็ไม่มีความกล้าหาญในการสู้รบเช่นแต่ก่อน มีผลทำให้จักรวรรดิโรมันไม่สามารถต้านทานการรุกรานจากภายนอก ทำให้อาณาจักรโรมันที่เคยรุ่งเรืองต้องล่มสลายไปในที่สุด ในประวัติศาสตร์จีน การเปลี่ยนราชวงศ์ ก็มีมูลเหตุคล้ายคลึงกัน โดยทั่วไป ในช่วงต้นของราชวงศ์ ใหม่ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ มักมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ต่อมาไม่นาน ก็เกิดความเสื่อมถอย จากภายใน ที่คล้ายกันคือ ความฟุ่มเฟือยของราชสำนักและชนชี้นสูง ขุนนางที่ประจบสอพลอเข้ามามีอำนาจ มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุนนางและผู้มั่งคั่งสะสมที่ดินเป็นของตน ประกอบกับการผลิตในภาคเศรษฐกิจต่างๆที่ลดลง รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณ เพราะเก็บภาษีได้น้อยลง เมื่อรัฐบาลมีปัญหาการคลัง จึงต้องพยายามเก็บภาษีมากขึ้น สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากภาวะข้าวยากหมากแพงและจากการขูดรีดภาษีของรัฐบาล เมื่อเกิดมีภัยธรรมชาติรุนแรงหรือเหตุอื่นที่ทำให้ มีคนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ก็จะมีผู้ก่อการกบฏต่อรัฐ โดยมีประชาชนผู้ยากไร้เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อรัฐต่างชาติหรือต่างเผ่า เห็นประเทศจีนมีความอ่อนแอ ก็จะเข้าโจมตีและยึดครองได้ในที่สุดจึงเกิดการเปลี่ยนราชวงศ์ ในสมัยราชวงศ์หมิง(明)และราชวงศ์ชิง(清)

ซึ่งมีเวลายาวนานกว่าห้าศตวรรษ ประเทศจีนเสื่อมถอยลงไปมากเมื่อเทียบกับประเทศในซีกโลกตะวันตก ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีของประเทศตะวันตกหลังยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม(文艺复兴 renaissance) แต่สาเหตุสำคัญอีกส่วนหนึ่ง เกิดจากรัฐบาลมีการริดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกของประชาชน ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศปิดประเทศ ไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก รวมทั้งไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในการบริหารประเทศเมื่อถูกรุกราน ยึดมั่นและเชื่อในความคิดว่า วัฒนธรรมจีนที่สืบทอดกันมานานนับพันปี เหนือกว่าวัฒนธรรมตะวันตก แม้มีผู้เสนอแผนการปฏิรูปประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้กุมอำนาจรัฐ ในสมัยนั้น ในสมัยปัจจุบัน เราได้เห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็เกิดจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินอาจเห็นว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เกิดจากการประกาศการแยกตัวของสหภาพโซเวียต ของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) แต่แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ ความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ได้เกิดขึ้นและสะสมมานานหลายทศวรรษ เมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟมีอำนาจในการปกครองประเทศ มีแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่เน้นการมีเสรีภาพ ความโปร่งใส และมีแผนเปิดประเทศทางเศรษฐกิจที่เรียกว่ากลาสนอสและเปเรสทรอยกา (glasnost and perestroika) แต่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายๆด้าน รวมทั้งเกิดการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจในประเทศ แม้กอร์บาชอฟจะสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏ และกลับเป็นประธานาธิบดีอีกได้ แต่ก็ต้องยอมรับสภาพว่า เศรษฐกิจและการปกครองของสหภาพโซเวียตไม่สามารถที่จะอยู่ต่อไปได้ สหภาพโซเวียตจึงต้องล่มสลายไปในที่สุด จากประสบการณ์ของจักรวรรดิโรมันและสหภาพโซเวียต ก็เห็นว่า การล้มละลายหรือการล่มสลายของประเทศ อาจเป็นกระบวนการที่เกิดจากความเสื่อมถอยที่ต่อเนื่องและสะสมมาเป็นเวลานาน ในช่วงการล่มสลายของสภาพโซเวียต บทความและหนังสือของฟูกุชิมา (Francis Fukushima)ที่แสดงความคิดว่า ต่อจากนั้น เศรษฐกิจการเมืองการปกครองในโลก จะเหลือเพียงระบบเสรีประชาธิปไตย โดยระบบสังคมนิยมจะหายไป ได้รับการกล่าวขวัญกันมาก ในช่วงเวลานั้น ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบเสรีนิยมแบบตลาด และลดความเข้มงวดของนโยบายการวางแผนจากส่วนกลางลง แม้ประเทศจีนที่มีการปฏิรูปและการเปิดเศรษฐกิจ จนถึงเวลานี้ยังยืนยันว่า ประเทศตนมีระบบการปกครองสังคมนิยม แต่ก็มีการใช้ระบบตลาดในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งถือกันว่าเป็นวิธีการของระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตาม การบริหารเศรษฐกิจของจีนหลังจากการปฏิรูปและการเปิดประเทศ แม้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาไปมาก แต่ก็มีปัญหานานาประการ โดยเฉพาะระบบการเมืองการปกครองที่มีแนวโน้มไปในทางการรวบอำนาจมากขึ้น และมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มาถึงทุกวันนี้ ก็มีความเสื่อมถอยไปมาก เราได้เห็นแล้วว่า ประเทศที่อวดอ้างว่าตนเป็นเสรีประชาธิปไตย ก็มีปัญหาต่างๆที่แสดงถึงความเสื่อมถอย ประเทศที่เป็นมหาอำนาจในปัจจุบันอย่างอเมริกา ก็มีปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองหนักหน่วงนานับประการ รวมทั้งมีความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศที่ก่อให้เกิดความเสี่ยมถอยเหล่านี้ ถึงเวลาหนึ่ง ก็อาจประสบกับภาวะล้มละลายได้ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ต้องอีกสักกี่ปี กี่ทศวรรษ หรือเป็นเวลานานนับศตวรรษ อเมริาจึงต้องล้มละลาย ในการบริหารเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมแบบไหนจะดีกว่ากัน? นักเศรษฐศาสตร์มีความคิดที่แตกต่างกัน ฝ่ายเสรีนิยมเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจที่ดี ควรปล่อยให้บุคคลและองค์กรต่างๆ มีสิทธิเสรีภาพเต็มทีในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด การแข่งขันในระบบตลาด จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของรัฐบาล ควรจำกัดเพียงการป้องกันประเทศ และการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ส่วนความคิดของเศรษฐศาสตร์ฝ่ายสังคมนิยมเห็นว่า รัฐบาลควรมีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากร การผลิตสินค้าและบริการ การกระจายรายได้ และมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือสังคมนิยม รัฐบาลล้วนมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เพียงแต่มีขอบเขตที่แตกต่างกัน ในประเทศเสรีนิยม แม้การผลิตและการใช้สิ่งสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน การใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์ ก็มอบให้บริษัทเอกชนทำโดยอาจมีการกำกับดูแลบ้าง แต่ในประเทศที่ใช้ระบบสังคมนิยม จะมีการกำหนดแผนการจัดสรรทรัพยากรในประเทศอย่างละเอียด และมักมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของแต่ละฝ่ายมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ฝ่ายสังคมนิยม มักเน้นเรื่องการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในการขจัดความล้มเหลวของตลาด(market failure) เช่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม การผูกขาดทางธุรกิจ การขาดแคลนสินค้าสาธารณะที่จำเป็น และผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนฝ่ายทุนนิยม เน้นเรื่องการใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร ส่งเสริมประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยการสร้างสิ่งจูงใจ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินส่วนบุคคล และเห็นว่า การกำกับดูแลกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆโดยรัฐบาล อาจเกิดความล้มเหลว(government failure)

เช่นความไร้ประสิทธิภาพ การขาดข้อมูลในการจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อน มีกฎระเบียบและการแทรกแซงที่ก่อให้เกิดความเสียหาย บุคคลในภาครัฐมีผลประโยชน์ทางการเมือง มีการบริหารที่ขาดความโปร่งใสและเที่ยงธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการใช้จ่ายภาครัฐที่เกินความจำเป็น ตลอดจนมีการเบียดบังแย่งชิงทรัพยากรที่ภาคเอกชนจะใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น แท้ที่จริง ไม่ว่าเศรษฐกิจระบบทุนนิยมหรือระบบสังคมนิยมต่างมีข้อบกพร่อง ที่เป็นข้อวิพากษ์ได้ทั้งสองระบบ ขณะเดียวกันความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน น่าจะมีข้อคิดดังนี้คือ: ก. พิจารณาปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ กำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม แล้วนำสู่การปฏิบัติ ในการดำเนินนโยบาย หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรมีความร่วมมือและประสานงานกัน ข.แต่ละประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่แตกต่างกัน ผู้บริหารประเทศควรศึกษาปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและพยายามหาทางแก้ไข ปัญหาบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน แต่มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานหลายปี เช่น การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ที่อาจเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อผู้บริหารประเทศเห็นปัญหาแล้ว ก็ควรกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ไข ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงสามารถแก้ไขหรือลดปัญหาเหล่านี้ได้ ค. ศึกษาประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของต่างประเทศ ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว แต่การลอกเลียนนโยบายต่างๆมาใช้ ควรคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของประเทศตน เช่น ระดับรายได้ของประชาชนสถานะทางเศรษฐกิจ และความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในทรัพยากรของประเทศ ง. วิเคราะห์จุดแข็ง. จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดทางด้านต่างๆ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน แล้วจึงนำเอานโยบายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาปรับปรุงให้เหมาะสม จ. การดำเนินนโยบาย ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาก่อนหลังของการปฏิบัติ ไม่ใช่ทำทุกอย่างพร้อมกันโดยทันที ทั้งๆที่ยังไม่มีความพร้อม ฉ.พิจราณาจุดอ่อนหรือข้อจำกัดที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศสำคัญจำเป็นต้องแก้ไข แล้วหาวิธีการลดหรือขจัดข้อจำกัดเหล่านั้น ช. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจต่างๆของประเทศ ควรพยายามยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาเทคโนโลยี กำลังคน และสิ่งสาธารณูปโภค ฌ. ความสงบของสังคมและความสามัคคีของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพยายามส่งเสริมความปรองดองสมานฉันท์ของคนกลุ่มต่างๆในประเทศ ประเทศที่มีประชาชนหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ต้องไม่มีความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนต่างเชื้อชาติและต่างเผ่าพันธุ์ คนหมู่มากไม่ควรเอารัดเอาเปรียบหรือมีอภิสิทธิ์เหนือชนกลุ่มน้อย ญ. ในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามกำหนดเวลา ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของนโยบาย นโยบายใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลชุดก่อนได้ทำไว้ไม่ควรยกเลิก แต่ควรดำเนินการต่อไป โดยอาจมีการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ฎ. ปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร(information age) ข้อมูลข่าวสารมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในยุคปัจจุบันอย่างหนึ่งคือ เทคโนโลยี ประเทศที่มีความล้าหลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มีข้อได้เปรียบในก ารนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแล้วในโลกมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาและเงินทุนวิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่ จึงเป็นข้อได้เปรียบของผู้มาทีหลัง (late-comer’s advantage)

ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องเสียต้นทุนมากนัก แต่ประเทศกำลังพัฒนา ก็ควรเร่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วในข้อ ช. การพัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนมีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆรู้จักค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ข่าวสารข้อมูลการพัฒนาประเทศ ไม่ได้จำกัดเพียงข่าวสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังรวมถึงข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวกับนโยบายและประสบการณ์ของประเทศอื่น ทั้งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลว รัฐบาลที่อยากเห็นความเจริญในการพัฒนาประเทศ จึงไม่ควรลิดรอนเสรีภาพทางความคิด การหาความรู้ และการแสดงออกของประชาชน ฏ.สำหรับประเทศใหญ่ ควรมีบทบาทในการรักษาสันติภาพของโลก ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ครอบงำ ไม่แทรกแซงกิจการของประเทศอื่น ไม่บีบบังคับให้ประเทศอื่นต้องมีลัทธิความเชื่อ และมีระบอบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองที่เหมือนประเทศตน และควรมีบทบาทในการจัดหาสินค้าสาธารณะในระดับโลก(global public goods) เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การขจัดความยากจน การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯลฯ สำหรับประเทศใหญ่ ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ควรยึดหลักเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ปรองดองสมานฉันท์กันแม้มีความแตกต่าง แสวงหาจุดร่วม จุดต่าง และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย จากหัวข้อต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศ มีความสำคัญต่อการพัฒนาส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองปกครองทุนนิยม หรือสังคมนิยม ความคิดและการกระทำของรัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศมีความสำคัญ ถ้าผู้บริหารประเทศคิดถูกทำถูก คิดดีทำดี ประเทศชาติก็มีความเจริญ การมีประชาชนที่มีความรู้ความคิด รู้จักเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมมาบริหารประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยังยืน สร้างความเจริญและป้องกันความเสื่อมถอย

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *